fbpx
Comments are off for this post

เซลฟี่ เซฟตี้? ส่องดูสัตว์ป่า ห่างกันสักนิด เพื่อความความสัมพันธ์ที่ดี

บทความโดย : พิเชฐ นุ่นโต

เมื่อต้นเดือนกันยายน ชายชาวอินเดียพยายามถ่ายเซลฟี่กับช้าง พี่ช้างไล่เหยียบเสียชีวิต ต้นปีชายชาวซิมบับเวพยายามเซลฟี่กับช้าง ก็โดนพี่ช้างเล่นงานจนเสียชีวิต

เราถ่ายรูปสัตว์ป่าได้ครับ แต่การเข้าไปถ่ายใกล้ๆ อันตรายมากและอาจถึงแก่ชีวิตได้ โดยเฉพาะสัตว์ใหญ่เช่นช้าง แม้ว่าสัตว์ป่าเขาจะดูเฉยๆ นิ่งๆหากินของเขาไปเมื่อเราเข้าไปใกล้ๆ แต่สัตว์ป่าเขามีระยะปลอดภัย หรือในทางหลักพฤติกรรมสัตว์ เมื่อเราเข้าไปใกล้สัตว์ป่าคล้ายการคุกคาม สัตว์จะมีระยะในการตอบสนองตัดสินใจว่าจะหนีหรือสู้ (flight or fight response)  ระยะปลอดภัยนี้เรียก ระยะเริ่มต้นหนี (Flight Initiation Distance, FID) แปรผันไปตามสัตว์ป่าแต่ละชนิด โดยสัตว์จะประเมินตามประสบการณ์เรียนรู้ มีพวกมาด้วยเยอะมั้ย มีลูกน้อยมาด้วยรึเปล่า ตัวเค้าใหญ่หรือเล็ก สัตว์ส่วนใหญ่เลือกที่จะถอยหนี แต่หากเข้าใกล้เขามากๆ สัตว์มักเลือกที่จะป้องกันตัวเองด้วยการขู่ และโจมตีตามลำดับ นอกจากนี้การเข้าใกล้กับสัตว์ป่ามากๆยังเป็นการเพิ่มความเครียดให้กับสัตว์ป่าอีกด้วย ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพและพฤติกรรมสัตว์ป่าในระยะยาว

ใช่ว่าจะมีเฉพาะบ้านเรา กระแสเซลฟี่ใกล้ๆกับสัตว์ป่ากระจายไปทั่วโลก ด้วยกระแสเซลฟี่ที่มากขึ้นเรื่อยๆและมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากบาดเจ็บจากสัตว์ป่าและสัตว์ป่าได้รับผลกระทบ เช่น การเข้าไปเซลฟี่ใกล้ๆกับสิงโตทะเลแคลลิฟอเนีย (California Sea Lion, Zalophus californianus) ทำให้สิงโตทะเลพาลูกหนีลงทะเลบ่อยครั้ง ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานที่สิงโตทะเลต้องรักษาไว้เพื่อความอยู่รอด และแม่บางตัวก็ทิ้งลูกตัวเองเพราะได้รับการรบกวนบ่อยจากนักท่องเที่ยว หน่วยบริการอุทยานแห่งชาติ (National Park Service) และองค์การบรรยากาศและมหาสมุทรแห่งชาติอเมริกา (NOAA) จึงรณรงค์ให้นักท่องเที่ยว งดการเซลฟี่ใกล้ๆกับสัตว์ป่า และขอให้เฝ้าดูสัตว์ป่าในระยะปลอดภัย

ต้นแบบอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของโลกอย่าง อุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน (Yellowstone National Park) ในสหรัฐอเมริกาได้แนะนำให้รักษาระยะดูสัตว์ป่าอย่างปลอดภัยและเป็นมิตรกับสัตว์ป่าไว้ เช่น แนะนำการดูควายไบซัน (Bison, Bison bison) และกวางเอลก์ (Elk, Cervus Canadensis) ควรรักษาระยะห่างไว้ มากกว่า 20 เมตรขึ้นไป และเมื่อพบกับหมีกริซลี่ (Grizzly bears, Ursus arctos ssp.) หรือหมาป่า (Wolf, Canis lupus) ก็ให้รักษาระยะที่ 91 เมตรไว้เสมอ เพื่อความปลอดภัย

ส่วนในช้างป่า ตามประสบการณ์ผู้เขียนคิดว่าอย่างไรเราก็ไม่ควรวางใจเดินเข้าไปใกล้ ต่ำกว่าระยะ 100 เมตร ถ้าใกล้กว่านั้นมักจะเป็นบุคคลหรือเจ้าหน้าที่ที่ยอมรับความเสี่ยง เพื่อเข้าไปศึกษาวิจัยพฤติกรรมช้าง หรือเข้าไปผลักดันบังคับช้างในกรณีที่ช้างป่ามารบกวนพืชผลของชาวบ้าน ซึ่งการเข้าใกล้สัตว์ป่าในระยะประชิดแบบนี้ นักวิจัยแต่ละปัจเจกบุคคล ก็ต้องใช้เวลาเป็นแรมเดือนหรือแรมปีและใช้เทคนิคด้านพฤติกรรมสัตว์สร้างความคุ้นเคย (Habituate) กว่าจะเข้าใกล้สัตว์ป่าได้ อย่างเช่นที่ เจน กูดดอล (Jane Goodall) นักชีววิทยา ทำความคุ้นเคยกับฝูงลิงชิมแปนซี ในอุทยานยานแห่งชาติลำธารกอมเบ (Gombe Stream National Park) ประเทศแทนซาเนีย จนสามารถเข้าอยู่ร่วมในฝูงและศึกษาพฤติกรรมได้อย่างใกล้ชิด ซึ่งกลุ่มนักวิจัยก็สรุปว่าต้องใช้เวลาทำความคุ้นเคยมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป บางกลุ่มอาจใช้เวลามากกว่า 5-6 ปี กว่าจะสร้างความคุ้นเคยและยอมรับจากฝูงชิมแปนซี

การเข้าไปท่องเที่ยวในบ้านสัตว์ป่า นอกจากเคารพกฎของพื้นที่แล้ว น่าจะต้องทำความเข้าใจสัตว์ป่าที่เราเข้าไปดูด้วยครับ พยายามรักษาระยะไว้ เพื่อให้สัตว์ป่ายังคงพฤติกรรมตามธรรมชาติ

สุดท้ายนี้ ถ้าเข้าไปดูสัตว์ป่า ก็ขออะไรไม่มากครับ เพื่อลดผลกระทบจากการเข้าไปแวะเยี่ยมบ้านสัตว์ป่า ตาม “ปฏิบัติการ 4 ม.+1” ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และภาคีเครือข่าย ซึ่งก็ปรับใช้ได้ในแต่ละพื้นที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ได้แก่

“ไม่ทิ้งขยะ ไม่ให้อาหารสัตว์ป่า ไม่ขับรถเร็ว ไม่ส่งเสียงดัง และไม่นำสัตว์ต่างถิ่นเข้ามาปล่อย”

อ้างอิง

Jane Goodall Institute. Habituating Wild Chimpazee. http://www.janegoodall.org.uk/ chimpan zees/chimpanzee-central/15-chimpanzees/chimpanzee-central/25-habituating-wild-chimps. (Accessed September 21, 2017).

National Park Service. 2017. Wildlife Viewing and Safety Tips. https://www.nps.gov/grca/ learn/nature/wildlife_alert.htm. (Accessed September 21, 2017).

NOAA Fisheries. 2017. “Selfie” culture puts marine wildlife at risk .http://www.westcoast .fisheries.noaa.g ov/ stories/ 2016/26_09262016_selfies_w_seals.html. . (Accessed September 21, 2017).

Samia, D.S.M., Nakagawa, S., Nomura, F., Rangel, T.F., and Blumstein, D.T. 2015. Increased tolerance to humans among disturbed wildlife. Nature Communications 6:8877.

ที่มาภาพ

Kamron Petprayoon  ,National Park Service: https://www.nps.gov ,The Jane Goodall Institute: http://www.janegoodall.org 

Comments are closed.