fbpx
Comments are off for this post

โป่งคืออะไร ?

บทความโดย : พิเชฐ นุ่นโต

โป่ง (Mineral lick/salt lick) คือ บริเวณหรือพื้นที่เฉพาะที่มีการสะสมของแร่ธาตุ จากกระบวนการกัดเซาะ ชะล้างแร่ธาตุรวมกันในดินหรือน้ำ ซึ่งส่งผลให้เกิดโป่งธรรมชาติ 2 ประเภทหลัก

ได้แก่ โป่งดินและโป่งน้ำ โป่งดินมักพบกระจายบริเวณที่ราบและตลิ่งริมลำธาร ส่วนโป่งน้ำพบตามบริเวณน้ำที่ไหลผ่านหินปูนหรือน้ำใต้ดินโดยมีน้ำแช่ขังอยู่บนผิวดิน และบางแห่งเป็นน้ำพุจากใต้ดิน สัตว์ป่าหลายชนิดทั้งนกและสัตว์เลี้ยงลูกนมเข้ามาใช้ประโยชน์ ด้วยการกินก้อนดินหรือน้ำจากโป่งโดยตรง สัตว์ป่าที่เข้ามาใช้โป่ง เช่น ช้างป่า หมูป่า เก้ง กวาง เลียงผา กระทิง วัวแดง สมเสร็จ ลิง ค่าง ค้างคาว นกบางชนิด เช่น นกเขาเปล้า เป็นต้น

โป่งสัตว์ป่า โป่งธรรมชาติ ห้วยขาเเข้ง

โป่งสัตว์ป่า โป่งธรรมชาติ ห้วยขาเเข้ง

 

โป่งธรรมชาติอุดมไปด้วยธาตุอาหารหลัก (Major element) ที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมต้องการ เช่น โซเดียม (Na) แคลเซียม (Ca) โพแทสเซียม(K) แมกนีเซียม (Mg) ฟอสฟอรัส (P) และธาตุอาหารรอง (Minor element/ trace element) อย่างเช่น เหล็ก (Fe) ทองแดง (Cu) ซีลีเนียม (Se) โคบอลต์ (Co) และไอโอดีน (I)  ซึ่งธาตุอาหารเหล่านี้จำเป็นต่อกระบวนการเจริญเติบโต รักษาสมดุลเมตาโบลึซึม (metabolism) สร้างเสริมเนื้อเยื่อกระดูกและระบบสืบพันธุ์ รวมถึงช่วยผลิตน้ำนม ฯลฯ

แร่ธาตุที่พบในโป่งมีความแปรผันค่อนข้างสูง ขึ้นอยู่กับแหล่งกำเนิดแร่ธาตุจากหิน ดิน น้ำ และประเภทป่าในบริเวณนั้น จึงทำให้สัดส่วนแร่ธาตุในโป่งแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ จากการศึกษาองค์ประกอบแร่ธาตุในโป่งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว โซเดียมและแคลเซียมอยู่ในสัดส่วนประมาณ 2:1 (1650 ppm: 2900 ppm) ขณะที่โป่งธรรมชาติแถบเอเชียในบอร์เนียว และโป่งในแอฟริกามีความแปรผันของปริมาณเช่นกัน โดยสัดส่วนโซเดียมต่อแคลเซียมอยู่ที่ประมาณ 1:1 ไปจนถึง 4:1 แต่ชนิดดินที่พบของโป่งธรรรมชาติมักมีแร่ดินเหนียว (clay minerals) ในกลุ่มเคลิไนต์ (Kalinite) และกลุ่มอิลไลต์ (Illite) อยู่ในปริมาณสูง ดังนั้นเมื่อพิจารณาธาตุองค์ประกอบหลักในโป่งธรรมชาติ และหลักฐานความต้องการธาตุอาหารในสัตว์ป่า โซเดียมและแคลเซียมถือเป็นแร่ธาตุหลัก ตามมาด้วยธาตุอาหารรอง และมีแร่ดินเหนียวเป็นองค์ประกอบสำคัญ

โป่งเทียม โป่งดิน สัตว์ป่า

ความสำคัญของโป่งต่อสัตว์ป่า  

ความสำคัญของโป่งธรรมชาติต่อสัตว์ป่ามีสมมติฐานอยู่หลายแนวทาง เนื่องจากสัตว์ป่าแต่ละชนิดมีรูปแบบพฤติกรรมการใช้ประโยชน์จากโป่งที่แตกต่างกันไป แต่สมมติฐานที่มีหลักฐานสนับสนุนจำนวนมาก ได้แก่

1.โป่งเป็นแหล่งแร่ธาตุเสริมให้แก่สัตว์ป่า เนื่องจากแร่ธาตุจากพืชและน้ำในระบบนิเวศบางแห่งอาจมีไม่เพียงพอ หรือมีปริมาณต่ำในบางฤดูกาล โดยเฉพาะโซเดียมที่มีปริมาณต่ำในพืชอาหารธรรมชาติ (low dietary-Na+ ) เราจึงพบเห็นช้างป่า เก้ง กวาง ซึ่งเป็นสัตว์กินพืช (Herbivore)  เลียกินดินโป่งหรือขุดกินดินโป่ง เพื่อชดเชยแร่ธาตุที่ขาด หรือเพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ให้กับร่างกาย

2.ดินโป่งช่วยให้ระบบย่อยอาหารมีความสมดุล เนื้อดินที่สัตว์กินพืช กินเข้าไปจากโป่งในกลุ่มแร่ดินเหนียว (Clay minerals) ช่วยให้ลำไส้ของสัตว์ย่อยอาหารได้ดีขึ้น ลดการติดเชื้อในทางเดินอาหาร และขจัดสารพิษจากพืชที่กินเข้าไป (detoxification) เช่น แทนนิน (Tannins) อัลคาลอยด์ (Alkaloids) และออกซ์ซาเลท (Oxalates)

3.โป่งเป็นแหล่งชุมนุมของสัตว์กินพืช เช่น เก้ง กวาง กระทิง และสัตว์กินทั้งพืชและสัตว์ เช่น หมูป่า และลิง ซึ่งเป็นเหยื่อของผู้ล่า อย่างเช่น เสือโคร่ง เสือดาว และหมาไน ดังนั้นโป่งจึงเป็นแหล่งที่มีเหยื่อชุกชุม ซึ่งผู้ล่าภายในป่าใช้เป็นแหล่งดักซุ่มเพื่อล่ากินเป็นอาหาร หรือนัยนึงเป็นที่แหล่งที่มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของชุมชนสัตว์ป่า

จำเป็นหรือไม่ที่ต้องจัดทำโป่งเทียม?

ด้วยองค์ความรู้ ณ ปัจจุบัน การตัดสินใจฟันธงว่าพื้นที่ใดจำเป็นต้องจัดทำโป่งเทียมนั้นเป็นการยาก ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของการจัดการสัตว์ป่าในพื้นที่นั้น เช่น การจัดทำโป่งเทียมดึงดูดสัตว์ป่าเพื่อเพิ่มคุณค่าด้านการศึกษาและอนุรักษ์สัตว์ป่า การทำโป่งเทียมดึงดูดสัตว์ป่าที่บาดเจ็บเพื่อทำการควบคุมรักษา การจัดทำโป่งร่วมกับแปลงพืชอาหารเพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ร่างกาย และเพิ่มโอกาสความสมบูรณ์พันธุ์ให้กับสัตว์ป่าที่ปล่อยคืนถิ่นในระยะแรก การจัดทำโป่งเทียมการเสริมแหล่งอาหารและเพิ่มโอกาสให้สัตว์ป่าได้ใช้เพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ของร่างกาย เช่นเดียวกับการจัดการทุ่งหญ้าที่ใช้ไฟเผาให้หญ้าระบัด เพื่อเพิ่มปริมาณอาหารให้สัตว์กินพืช ทั้งสองแนวทางถ้าจัดการไม่เหมาะสมก็จะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศได้

โป่งสัตว์ป่า โป่งธรรมชาติ ห้วยขาเเข้ง

ดังนั้นการจัดทำโป่งเทียมเป็นวิธีการเสริมแหล่งอาหารที่สามารถทำได้ แต่ควรมีเป้าหมายที่ชัดเจน มีระดับการจัดการที่เหมาะสม และคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศ สำหรับการทำโป่งเทียมของประชาชนที่มีจิตใจอนุรักษ์ส่วนใหญ่มีเป้าหมายเพื่อเสริมแหล่งอาหารและส่งเสริมจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ให้แก่เยาวชนและประชาชน ซึ่งการจัดทำโป่งเทียมในกรณีนี้สิ่งที่ควรพิจารณาเพื่อจัดทำโป่งเทียม ได้แก่

  • พื้นที่ ควรจำกัดปริมาณและพื้นที่ที่จัดทำให้ไม่อยู่ติดชิดขอบป่า หรืออยู่ลึกเข้าไปในถิ่นอาศัยของสัตว์ป่ามากเกินไป เพราะโป่งสามารถเพิ่มโอกาสกระจายโรคระบาดจากการที่โป่งเป็นที่ชุมนุมของสัตว์ป่า
  • ช่วงเวลา สัตว์ป่ามักเข้าใช้โป่งช่วงหน้าแล้ง และหากเราจัดทำโป่งช่วงหน้าแล้ง อายุการใช้งานจะนานกว่าช่วงหน้าฝน และไม่ควรเสริมโป่งเทียมบ่อยครั้งจนเกินไป เพราะเป็นการรบกวนสัตว์ป่า โป่งเทียมในขนาดที่เหมาะสมตามวิธีการที่นำเสนอ มีอายุการใช้งานราว 4-5 เดือน
  • ขนาดและปริมาณ ไม่ควรจัดทำโป่งเทียมเป็นจำนวนมาก หรือกินบริเวณกว้าง ควรกระจายเป็นหย่อมเล็กๆ เพื่อลดผลความเสี่ยงจากความเข้มข้นเกลือที่อาจไหลมาสะสมรวมกัน เพราะเกลือเข้มข้นสูงมีผลกระทบต่อพืช และสัตว์โดยเฉพาะสัตว์สะเทินบกสะเทินน้ำที่มีความอ่อนไหวต่อความเข้มข้นของเกลือ
  • ผู้คน ข้อดีประการหนึ่งของโป่งคือช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นโอกาสดีในการให้ความรู้เรื่องธรรมชาติและการอนุรักษ์สัตว์ป่า ดังนั้นหากการจัดทำโป่งเทียมสามารถส่งเสริมคุณค่าส่วนนี้เข้าไปได้ ก็น่าจะทำให้ประโยชน์ของการจัดทำโป่งเทียมมีผลบวกต่องานอนุรักษ์สัตว์ป่าเพิ่มขึ้น

ข้อแนะนำก่อนการจัดทำโป่งเทียม

1.หากเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ต้องติดต่อขออนุญาต หรือทำหนังสือขออนุญาตกับเจ้าของพื้นที่ก่อน

2.พื้นที่ทำโป่ง เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าสามารถดูแลความปลอดภัยของสัตว์ป่าจากการล่าและรบกวนของมนุษย์ได้โดยมากจะเป็นพื้นที่อยู่ไม่ห่างไกลจากหน่วยพิทักษ์ป่าของเขตอนุรักษ์

3.หากเป็นพื้นที่ป่าติดกับชุมชนขอบป่า ควรได้รับความเห็นชอบและยินยอมจากชุมชนก่อนการทำโป่ง เนื่องจากโป่งสามารถดึงดูดสัตว์ป่าที่มีศักยภาพเข้ามาทำลายหรือกินพืชผลของชุมชนได้ เช่น ช้างป่า หมูป่า และกระทิง

4.ควรเป็นพื้นที่ห่างไกลจากสัตว์เลี้ยงของชุมชน เพื่อป้องกันโรคติดต่อจากสัตว์เลี้ยงสู่สัตว์ป่า และควรอยู่ห่างจากถนนและบ้านเรือนของชุมชนให้มากที่สุด เพื่อความปลอดภัยต่อทั้งคนและสัตว์ป่า

5.เรียนรู้แนวทางการทำโป่งเทียมตามหลักวิชาการที่มีการศึกษาและทดลองมาแล้ว จากเจ้าหน้าที่วิชาการป่าไม้ของรัฐ หรือนักวิชาการด้านนิเวศวิทยาและสัตว์ป่าใกล้กับพื้นที่ของท่าน ซึ่งจะได้กล่าวโดยสังเขปต่อไป

แนวทางและขั้นตอนการจัดทำโป่งเทียม

แนวทางการจัดทำโป่งมีหลากหลายแนวทางที่ใช้จัดทำ สามารถดูได้ในแนวทางการจัดทำโป่งของ บุษบง กาญจนสาขา (2552) แต่วิธีการจัดทำโป่งในเอกสารนี้ ใช้พื้นฐานงานวิจัยโป่งเพื่อช้างป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิและอุทยานแห่งชาติไทรโยค (Noonto, 2016) โดยมีอัตราการเข้ามาใช้โป่งของช้างป่ามากกว่า 50% และโป่งมีสัตว์เข้ามาใช้สม่ำเสมอตลอดช่วง 4-5 เดือน ซึ่งคำนึงถึงหลักสำคัญในการจัดทำโป่งเทียม คือ ปลอดภัยต่อสัตว์ป่า โป่งมีองค์ประกอบและลักษณะใกล้เคียงกับธรรมชาติ ระมัดระวังผลกระทบต่อระบบนิเวศ และ ได้รับความเห็นชอบจากชุมชน

การเลือกพื้นที่สำหรับจัดทำโป่งเทียม

1.ดังที่ได้กล่าวตามข้อแนะนำก่อนจัดทำโป่งเทียม พื้นที่นั้นควรได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือชุมชนว่าเป็นพื้นที่ที่สามารถดูแลเรื่องความปลอดภัยได้ และไม่อยู่ติดกับชุมชนมากเกินไป

2.เลือกพื้นที่เป็นเนินสูงห่างจากพื้นที่น้ำหลาก แต่ควรตั้งอยู่ใกล้กับลำห้วย เป็นพื้นดินราบเรียบ หากเป็นพื้นที่ลาดชันเกลือจะถูกกัดเซาะออกไปได้ง่าย หลีกเลี่ยงทำใกล้แหล่งน้ำนิ่งหรือพื้นที่ชุมน้ำเพราะความเข้มข้นเกลือจะส่งผลต่อสัตว์น้ำได้หากละลายลงแหล่งน้ำ

3.เลือกบริเวณที่มีสภาพดินเป็นดินร่วนปนทราย หรือดินร่วนปนดินเหนียว ถ้าเป็นดินทรายริมน้ำอาจกักเก็บเกลือไว้ไม่อยู่ หรือถ้ามีสัดส่วนดินเหนียวมากเกินไป เกลืออาจซึมออกมาได้น้อย

4.อยู่ไม่ห่างจากด่านสัตว์ หรือพื้นที่ที่มีพืชอาหารของสัตว์ป่า

5.หากทำโป่งเทียมใกล้กับโป่งธรรมชาติที่สัตว์ป่ายังใช้ประโยชน์ ควรเว้นระยะห่างไว้ตามความเหมาะสมเพื่อไม่เป็นการรบกวน และคงสภาพโป่งให้มีความเข้มข้นตามธรรมชาติ ยกเว้นโป่งธรรมชาติที่สัตว์ป่าทิ้งร้างไม่ได้ใช้มานาน เราสามารถเสริมโป่งเทียมในบริเวณดังกล่าวได้

 

อุปกรณ์การจัดทำโป่งเทียม

1.จอบขุดดิน

-หลีกเลี่ยงจอบที่ใช้ในพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์ ควรทำความสะอาด ตากแดดก่อนนำมาใช้

2.เกลือแกง (Sodium Chloride: NaCl) เกรดบริโภค

-ควรใช้ประเภทเกลือแกงประเภทที่ใช้ประกอบอาหาร  ได้แก่ เกลือสมุทรป่น หากเป็นเกลือสมุทรเม็ดจะดึงดูดสัตว์ป่าได้น้อยกว่า อาจเนื่องด้วยเรื่องของรสชาติและระดับความเค็ม

-เกลือสมุทรตามธรรมชาติมีความหลากหลายของแร่ธาตุมากกว่าเกลือสินเธาว์ โดยเกลือสมุทรมีทั้งธาตุอาหารหลัก คือ โซเดียม แคลเซียม แมกนีเซียม และธาตุอาหารรอง เช่น ทองแดง ไอโอดีน และสังกะสี เป็นต้น

-หากหาซื้อเกลือแกงจำนวนมากไม่ได้  สามารถใช้ก้อนเกลือแร่ปศุสัตว์ที่มีส่วนประกอบของเกลือแกงมากกว่า 30% ของน้ำหนักขึ้นไป หลีกเลี่ยงก้อนเกลือแร่ที่ผสมกากน้ำตาล (Molasses) ในปริมาณสูงเพื่อลดความเสี่ยงต่อการทำให้สัตว์ป่าฟันผุ เลือกซื้อก้อนเกลือแร่ตามร้านที่มีเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือสัตวแพทย์ประจำเพื่อให้ได้ก้อนเกลือแร่ที่มีคุณภาพ

3.เกลือไดแคลเซียมฟอตเฟต (Dicalcium Phosphate: CaHPO4) เกรดอาหารสัตว์

-เลือกชนิดที่ไม่มีกระดูกสัตว์ป่นเป็นองค์ประกอบ เนื่องจากบางพื้นที่มีการทดลองผสมกระดูกสัตว์ป่นแล้วสัตว์ป่าไม่เข้ามาใช้ หรือเข้ามาใช้น้อย และเพื่อลดความเสี่ยงโรคที่อาจติดมากับกระดูกสัตว์ป่น

-หรือใช้ อาหารเสริมแร่ธาตุ ที่มีองค์ประกอบของแคลเซียมมากกว่า 20% (ต่อน้ำหนักขึ้นไป) และมีธาตุอาหารรองอื่นๆผสม

4.ถังน้ำ หรือ บัวรดน้ำ

 

ส่วนผสมจัดทำโป่งเทียม

สูตรที่ 1: เกลือแกง 20 กิโลกรัม: ไดแคลเซียมฟอตเฟต 10 กิโลกรัม

สูตรที่ 2: เกลือแกง 40 กิโลกรัม: ไดแคลเซียมฟอตเฟต 20 กิโลกรัม

ดิน: ที่ปริมาตร กว้าง 2 x ยาว 3 x ลึก 0.5 เมตร เท่ากับ 3 ลูกบาศก์เมตร หรือ 3 คิว

ใช้ได้ทั้งสองอัตราส่วนที่เคยทดลอง โดยปริมาณความเข้มข้นของโซเดียมต่อแคลเซียม ใกล้เคียงกับสัดส่วนและความเข้มข้นในโป่งธรรมชาติที่ประมาณโซเดียมต่อแคลเซียม 2:1 และความเข้มข้นของแร่ธาตุทั้งสองอยู่ในช่วงประมาณ 1-10 mg/kg ของน้ำหนักดิน ซึ่งเป็นปริมาณที่พบความเข้มข้นแปรผันในโป่งแต่ละพื้นที่ หากใช้เกลือมากกว่านี้ต้องเพิ่มปริมาณดินเพื่อควบคุมความเข้มข้นให้ไม่เกินช่วงที่กำหนด

 

ขั้นตอนการจัดทำโป่งเทียม

1.ขุดเปิดหน้าดินให้โป่งมีความกว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร และลึก 50 เซนติเมตรโดยประมาณ นำดินกองไว้ด้านข้างหลุม และปรับพื้นหลุมให้เรียบ

2.นำเกลือแกงเทลงไปครึ่งหนึ่ง แล้วนำดินที่กองไว้ด้านข้างส่วนหนึ่งคลุกผสมลงไป หากเป็นก้อนเกลือแร่ให้ทุบกอ้นเกลือแร่ให้ละเอียด เพื่อให้สัตว์ป่ากินได้สะดวกขึ้น

3.นำเกลือไดแคลเซียมฟอตเฟตเทลงไปทั้งหมด แล้วนำดินด้านข้างคลุกผสมเป็นชั้นที่ 2

4.จากนั้นนำเกลือที่เหลืออีกครึ่งเทลงไป นำดินด้านข้างอีกเล็กน้อยคลุกผสม

5.นำดินที่เหลือทั้งหมดกลบเคล้าคลุกผสมให้ทั่วทั้งโป่ง เกลี่ยดินบางจากด้านข้างอีกเล็กน้อยเป็นชั้นบางๆ

6.ตักน้ำในบริเวณใกล้เคียง ราดรดลงไปให้ทั่วโป่งพอชุ่มเพื่อให้โป่งอ่อนตัว และช่วยให้กลิ่นของเกลือกระจายออกไปดึงดูดสัตว์ป่า หากไม่สามารถหาน้ำได้ เพียงเกลี่ยหน้าดินให้ร่วนซุย ไม่ควรเหยียบโป่งจนแน่นเกินไป

 

ข้อสังเกตบางประการ

1.การกองเกลือจำนวนมากไว้ที่พื้นที่พื้นดิน ไม่ใช่แนวทางการจัดทำโป่งเทียมที่สอดคล้องกับธรรมชาติการกินดินโป่งของสัตว์ป่า และอาจทำให้โป่งเดิมที่สัตว์ป่าเคยใช้ถูกรบกวนจากความเข้มข้นที่เพิ่มขึ้น เกลือความเข้มข้นสูงจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทั้งต้นไม้บริเวณรอบๆ และหากเกลือจำนวนมากละลายไหลลงน้ำจะส่งผลกระทบต่ออัตราการอยู่รอดของสัตว์ในกลุ่มสะเทินน้ำสะเทินบก

2.การเข้ามาใช้โป่งของสัตว์ป่าอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับโป่งเพียงปัจจัยเดียว แต่ขึ้นอยู่กับความปลอดภัยของพื้นที่ และสัดส่วนของแร่ธาตุตามธรรมชาติโดยเฉพาะในพืชอาหารและน้ำ เช่นกรณีที่สัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง พบว่าโป่งธรรมชาติมีสัตว์ป่าเข้ามาใช้น้อยกว่าโป่งของในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

3.ควรมีการตรวจสอบการใช้โป่งเทียมของสัตว์ป่าหลังการจัดทำ เพื่อตรวจสอบการรบกวน อัตราความถี่การเข้าประโยชน์ของสัตว์ป่า เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนจัดการและพัฒนาการจัดทำโป่งเทียมต่อไป

 

 

อ้างอิง

บุษบง กาญจนสาขา. 2552. แนวทางการจัดทำโป่งเทียม. หน้า 176-182 ใน ผลงานวิจัยและรายงานความก้าวหน้างานวิจัยประจำปี 2552. กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอยุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. กรุงเทพฯ.

อนุชยา ทรัพย์มี. 2529. การใช้ประโยชน์โป่งธรรมชาติและโป่งเทียมของสัตว์ป่า ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ. วิทยานิพนธ์บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

Ayotte, J. B., Parker, K. L., Arocena, J., and Gillingham, M. P. 2006. Chemical composition of lick soils: Functions of soil ingestion by four ungulate species. Journal of Mammalogy. 87(5):878–888.

Bhumpakphan, N. 1997. Ecological characteristics and habitat utilization of gaur (Bos gaurus H.Smith, 1827) in different climative sites. Ph.D.Thesis. Kasetsart University.

Holdø, R. M., Dudley, J. P., and McDowell, L. R. 2002. Geophagy in the African elephant in relation to availability of dietary sodium. Journal of Mammalogy. 83(3), 652–664. doi:10.1644/1545-1542.

Houston, D. C., Gilardi, J. D. and Hall, A. J. 2001. Soil consumption by elephants may help to minimize the toxic effects of plant secondary compounds in forest browse. Mammal Review. 31: 249–254.

Karraker, N. E., Gibbs, J., and  Vonesh, J. 2008. Impact of road de-icing salt on demography of  vernal pool-breeding amphibian. Ecological Applications. 18(3), 724-734.

Klaus, G., Klaus-Hügi, C., and Schmid, B. 1998. Geophagy by large mammals at natural licks in the rain forest of the Dzanga National Park, Central African Republic. Journal of Tropical Ecology. 14, 829–839. doi:10.1017/S0266467498000595.

Molina, E., Leon, T. E. and Armenteras, D. 2014. Characteristics of natural salt licks located in the Columbian Amazon foothills. Environmental Geochemistry and Health. 36:117-129.

Noonto, B. 2016. Sustainable Management of Human-Elephant Conflict (HEC) Concerning with Elephant and Human Behaviors in Thong Pha Phum and Sai Yok National Parks, Kanchanaburi, Thailand. Ph.D. Thesis. Faculty of Graduate Study, Mahidol University, Bangkok.

Comments are closed.