fbpx
Comments are off for this post

กลุ่มใบไม้ : ห้อง Hub หัวใจแห่งจิตอาสา เพื่อธรรมชาติ

แดดยามบ่ายแก่ ๆ สาดเฉียงเข้ามาจากนอกหน้าต่าง อากาศเย็นสบายของช่วงท้ายปีพัดผ่านพอชื่นใจ ทิวทัศน์เบื้องหน้าของผมปรากฏเป็นทุ่งนายาวสุดลูกหูลูกตา หลังการเดินทางกว่า 2 ชม. จากเมืองกรุง ผ่านถนนสาย 305 รังสิต – นครนายก ผมก็มาถึง “คาเฟ่” แห่งหนึ่ง ที่ป้ายด้านหน้าระบุชื่อ The Tropical Eco-Cafe คาเฟ่สไตล์ป่าฝน ที่มีเพลงบรรเลงสบาย ๆ เคล้าคลอกับเสียงธรรมชาติเป็นการต้อนรับแขกผู้มาเยือน

the tropical eco cafe

เปล่า ผมไม่ได้กำลังรีวิวคาเฟ่ลับใจกลางเมืองนครนายก แต่กำลังจะพูดถึง พื้นที่เบื้องหน้า อันเป็นฐานทัพ และนับเป็นเบื้องลึก เบื้องหลังของ “กลุ่มใบไม้” ซึ่งในวันนี้เหล่าสมาชิกทั้งขาจร และขาประจำ ได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งในตลอดช่วงเวลา 3 ปีที่หล่นหายจากวิกฤตการณ์โควิด 19

เวทมนต์จากกองไฟ – เชื่อม “ห้อง” หัวใจเข้าหากัน

เมื่อแสงอาทิตย์ค่อย ๆ หรี่ลับดับลง กองไฟก็ถูกจุดขึ้น สูงขึ้นไปนั้นเป็นเส้นเชือกที่ผูกเอาธงเล็ก ๆ รูปใบไม้สัญลักษณ์ประจำกลุ่ม ยึดโยงกันขึ้นไปเป็นทรงสูงในอากาศ คล้ายโดมในงานเทศกาล ประดับประดาไปด้วยหลอดไฟดวงเล็ก ๆ ที่ไม่มากไม่น้อยเกินไป เมื่อลมหนาวพัดแผ่ว ธงก็ขยับวูบไหว พร้อมกับผู้คน ที่ขยับเข้าล้อมวงกันอย่างไม่รู้ตัว ผมยิ้มแย้มทักทายคนรู้จักสองสามคน ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบด้วยความยินดี รู้สึกถึง Vibe เก่า ๆ และมวลพลังงานบวกอันคุ้นเคยที่ห่างหายไปนาน จากนั้นจึงปล่อยจอย ปล่อยใจ ปล่อยให้กองไฟสร้างทั้งอาหารเลิศรส และบรรยากาศอันอบอุ่น ที่เชื่อมโยงห้องหัวใจของเหล่าผู้รักธรรมชาติเข้าหากัน

เริ่มต้นจากความโรแมนติก

หัวค่ำวันนั้น พี่เก่ง-โชคนิธิ คงชุ่ม ผู้ก่อตั้งกลุ่มใบไม้ ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดงานครั้งนี้ก็เล่าให้ผมฟังว่า “เราใช้ธรรมชาติเชื่อมโยงผู้คน โดยเน้นกิจกรรมที่นำโดยความโรแมนติก” จากนั้นพี่เก่งก็ขยายความต่อว่า การทำงานอนุรักษ์ฯ มีหลากหลายแง่มุม แต่แง่มุมที่สามารถนำมาต่อยอดได้ดีที่สุดคือการใช้ความโรแมนติกอันเป็นเอกลักษณ์ของธรรมชาติ ดึงดูดผู้คน “คนอาจจะไม่ได้มาเพราะความต้องการด้านสิ่งแวดล้อมหรือจิตอาสาเพียงอย่างเดียว แต่อาจมาเพราะเพื่อน เพราะคนรู้จักชวน คำถามสำคัญคือจะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้อยู่กับเราต่อ” ประสบการณ์ในงานด้านสิ่งแวดล้อมมาหลายปีทำให้พี่เก่งเล็งเห็นสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่ธรรมชาติใช้ในการดึงดูดผู้คนให้หลงใหลมาเนิ่นนาน นั่นก็คือ ความโรแมนติก ที่ทำให้ผู้คนเปิดใจเข้าหาจนกลายเป็น ความรักโดยไม่รู้ตัว

 

ขับเคลื่อนด้วยจิตอาสา

“พี่เริ่มทำงานจิตอาสาด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เรียนจบใหม่ ๆ และโชคดีที่เจอสิ่งที่ใช่เร็ว และสิ่งนั้นก็ยังคงเป็นสิ่งที่ ใช่ ตลอดมา” พี่เก่งเล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นของ กลุ่มใบไม้ “ในอดีตเราแค่รู้สึกอยากทำ ก็ทำมันเลย มั่นใจคิดว่าทำได้ คิดว่าต้องมีคนช่วยแน่ ๆ ก็เลยทำมัน กลายเป็นความรู้สึกที่เรียกว่า ‘เช้าที่อยากตื่นกับคืนที่ไม่อยากนอน’ พลังล้นเหลือ ถึงจะไม่ได้วางแผนอะไรมากแต่ก็ทำได้ พอเกิดโควิดขึ้น ปีแรกเรายังไหว แต่ปีถัดมาก็ไม่ไหวแล้ว ในตอนนั้นเองที่เราได้กลับมาคิดทบทวนอีกครั้งถึงความสำคัญของการวางแผน เป้าหมาย และอนาคตของกลุ่มใบไม้”

“คำว่า Begin again มันเกิดขึ้นมาตอนนั้น เหมือนเราได้ย้อนกลับไปเป็นวัตถุดิบอีกครั้ง เหมือนได้พิจารณาเป้าหมาย และตั้งคำถามถึงสิ่งที่เรามีอีกครั้งว่าเราจะไปในทิศทางไหน”

“คำตอบนั้นก็กลับมาเป็นคำว่า พื้นที่ เราต้องออกแบบพื้นที่ให้เอื้อต่อการเชื่อมโยงกัน ดิน ฟ้า น้ำ อากาศ ต้องมาแล้วรู้สึกสบายใจ มีพื้นที่ส่วนตัวบางส่วน พื้นที่ส่วนรวมบางส่วนเพราะถ้าเราทำพื้นที่ให้มีชีวิต พื้นที่นั้นก็จะกลับมาช่วยเหลือเรา ซึ่งจริง ๆ ก็ใช้เวลาตอนโควิดนี่แหละ พัฒนาพื้นที่ …ซึ่งตรงนี้ก็ตอบโจทย์กับเราตอนที่เข้าโปรแกรม School of change maker” จากนั้นพี่เก่งก็อธิบายถึง โปรแกรมพัฒนาธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุนโดย สสส. ซึ่งจะคัดเอาเหล่านักธุรกิจระดับหัวกะทิของเมืองไทยเข้ามาจับคู่เป็นโค้ชให้กับกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม

“เราอธิบายโค้ชไปว่า หากมีใครคิดถึงงานจิตอาสาด้านอนุรักษ์ธรรมชาติให้คิดถึงกลุ่มใบไม้ ตอนนั้นเองเราก็คิดว่าเรามีอะไรแล้วบ้างละ เราจะตอบความต้องการของทุกคนได้อย่างไร ตอนนั้นคำว่าการเป็น Hub เป็น Platform ที่เชื่อมโยงระหว่างจิตอาสาและงานอนุรักษ์ธรรมชาติ ก็เลยเด้งเข้ามา”

“เรามีพื้นที่ เรามีกิจกรรม เรามี know how พร้อมอยู่แล้วดังนั้นสิ่งที่เราอยากจะทำก็คือตอบความต้องการของทุก ๆ คนที่เข้ามาหาเราด้วยความต้องการอยากทำจิตอาสาด้านอนุรักษ์ธรรมชาติ”

ห้อง – HUB – หัวใจแห่งจิตอาสา

พี่เก่งขยายความต่อว่า Hub แห่งจิตอาสานั้นต้องเป็นสถานที่ ที่สามารถตอบโจทย์การทำจิตอาสาได้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่การเรียนรู้หลายสิบไร่สำหรับคนทุกช่วงวัย พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจอย่างคาเฟ่ หรือ สถานที่พักค้างคืนอย่างบ้านพักโฮมสเตย์ ที่กำลังอยู่ในแผนการก่อสร้าง เพื่อรองรับกลุ่มจิตอาสาที่ยังไม่คุ้นชินกับการกางเต้นท์นอน เมื่อยามต้องมีกิจกรรมค้างพักแรม นอกจากนี้ การเข้าร่วมอบรม School of change maker ทำให้พี่เก่งและสมาชิกกลุ่มใบไม้ ต่างมองเห็นแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจนขึ้น และพร้อมที่จะยกระดับไปสู่เป้าหมายได้อย่างยั่งยืน

ในคืนรอบกองไฟ การพูดคุยยังคงดำเนินไปจนดึกดื่น ผู้คนหลากอาชีพหลายที่มาเริ่มผลัดกันแชร์มุมมอง แลกเปลี่ยนความคิดกันอย่างสนุกสนาน หลายคนพูดถึงพลังบวกที่ได้จากกิจกรรม บ้างพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของตนที่สัมผัสได้แค่เพียงข้ามวัน ก่อนที่ค่ำคืนนั้นจะจบลงด้วยเกมสนุก ๆ อย่าง แบล็คเมจิก และเกมประจำค่ายอื่น ๆ ที่พาเหล่าสมาชิกที่อายุค่าเฉลี่ยน่าจะเกิน 30+ ให้กลับไปเป็น ‘เยาวรุ่น’ ไฟแรงอีกครั้ง “กลุ่มคนเป้าหมายของ กลุ่มใบไม้ คือคนรุ่นใหม่ครับ… ไม่ได้วัดที่อายุแต่วัดหัวใจ ที่ความคิด” พี่เก่งกล่าวแล้วยิ้มแย้ม เมื่อได้ยินพวกเราแซวกันถึงอายุอานามที่เพิ่มมากขึ้น

“งานอาสา” สิ่งที่มีค่ามากกว่าตัวเงิน

เช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้น ผมตื่นขึ้นด้วยความรู้สึกปลอดโปร่งและสดชื่น อากาศตอนเช้าหนาวเย็นตามคาด ท้องฟ้าข้างนอกแย้มแสงแรกออกให้เห็นผ่านหน้าต่างของเต้นท์ขนาดกลาง และเสียงนกนานาชนิดบรรเลงเพลงขับขานเป็นนาฬิกาปลุกที่ไม่อาจหาได้ในชีวิตเมือง ผมลุกขึ้นช้า ๆ บิดขี้เกียจ บอกลาถุงนอนอุ่นสบาย และก้าวออกไปนอกเต้นท์

หลังจากเติมพลังด้วยกาแฟซองร้อน ๆ และปาท่องโก่นุ่ม ๆ เหล่าสมาชิกก็จับกลุ่มกันพูดคุยเกี่ยวกับงานอาสาที่ตนเคยทำ ผมพยักหน้าด้วยความสนใจ รู้ดีว่าลึกลงไปในใบหน้าเปี่ยมสุขนั้นคือคุณค่าที่แท้จริงของ
“งานอาสา” ที่ไม่เพียงมอบความสุขในช่วงเวลา ทว่ามอบความภาคภูมิใจ การเห็นคุณค่าในตัวเอง ซึ่งนับเป็นพลัง เป็นรากฐานสำคัญที่พร้อมจะทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันจิตใจให้ผู้คนออกไปเผชิญกับภาระหน้าที่ในชีวิตประจำวัน ได้อย่างเต็มความสามารถ

จากนั้น คำถามสำคัญที่ผมฉุกคิดได้ก็คือ “งานอาสาของกลุ่มใบไม้” ต่างอย่างไรกับ “งานอาสา” ทั่วไป ?

ตอบโจทย์ธุรกิจ

บ่ายวันนั้น ผมขอนัดคุยกับพี่เก่งอีกครั้งถึงคำถามและสิ่งที่ตกตะกอนจากวันวาน ผมเลือกโต๊ะเล็ก ๆ ขนาดสองคนนั่ง ที่เปิดรับลมธรรมชาติ ท่ามกลางลูกค้าหลายช่วงวัยที่พากันมาพักผ่อนหย่อนใจ ในสวนของคาเฟ่ ที่ได้รับการตอบรับจากลูกค้าอย่างอบอุ่น

“งานจิตอาสาที่กลุ่มใบไม้ทำ เราเลือกทำแต่สิ่งที่สำคัญจริง ๆ ไม่ใช่งานที่แค่ตั้งธงมาแล้วต้องทำให้สำเร็จ เช่นพวกงาน สร้างฝายให้ครบ 100,000 ฝายทั่วประเทศ จริง ๆ แล้วเราปฏิเสธไปเยอะมาก แต่ทุกครั้งที่เราปฏิเสธเราก็จะเสนอแนะกลับไปนะ ว่าควรทำอะไร ดังนั้นองค์กรไหนที่มาทำ CSR กับเราจะมั่นใจได้ว่างานที่ออกไปจะเป็นงานที่ได้ผลจริง และเป็นงานคุณภาพแน่นอน” พี่เก่งไขข้อสงสัย ซึ่งคำตอบที่ได้รับกลับมาก็เชื่อมโยงกับ การทำ CSR ที่ภาคธุรกิจให้ความสนใจอย่างพอเหมาะพอดี จากนั้นพี่เก่งจึงยกตัวอย่างกิจกรรมสำคัญที่สร้าง impact ต่อสิ่งแวดล้อมได้จริง เช่น การปกป้องปลาฤดูมีไข่ และ การจัดค่ายอนุรักษ์ อย่างตะวันขึ้นดูนก ตะวันตกดูดาว ที่ทำติดต่อกันมาเกือบทุกปี

“สิ่งเหล่านี้จะเป็นคำตอบในระยะยาวสำหรับกลุ่มใบไม้ นี่คือคุณค่าที่เราวางไว้ร่วมกันระหว่างกลุ่มใบไม้ และภาคธุรกิจ เพราะแต่ละปีบริษัทต่าง ๆ ต้องพบกับปัญหาเรื่องพนักงานหมดไฟ ไม่เห็นค่าในตัวตน และใช้งบมหาศาลในการเยียวยา แก้ปัญหาเหล่านี้ ในจุดนี้เองที่กลุ่มใบไม้จะเข้ามา เพราะเราจะทำให้พนักงานของคุณเห็นคุณค่าในตัวเอง แก้ปัญหาการหมดไฟ และกลับไปเต็มร้อยอีกครั้งหนึ่ง ผ่านกิจกรรมจิตอาสาที่ตนชื่นชอบในด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ”

นอกเหนือจากการตอบโจทย์ในภาคธุรกิจแล้ว การพัฒนาคุณภาพของสมาชิกกลุ่มก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่พี่เก่งให้ความสนใจไม่แพ้กัน “สำหรับทีมงานของใบไม้เอง ก็จะมีการพัฒนามากขึ้น อย่างในปีนี้เราก็มีการส่งน้อง ๆ ในทีมไปอบรมภายนอก เพราะเราต้องการคนเก่ง ๆ มาช่วยงานมากขึ้น และหากเค้าตัดสินใจจะอยู่กับเรา เราก็จะให้ค่าตอบแทนที่สมศักดิ์ศรี ไม่ใช่ให้แค่ ช่วย ๆ กันเหมือนที่ผ่านมา เพราะเราคิดว่า งานอาสาด้านสิ่งแวดล้อมคืออาชีพแห่งอนาคต”

จากองค์กรที่มีเพียงความฝันเพื่อธรรมชาติอันงดงามเป็นเสาหลักนำทาง ในวันนี้กลุ่มใบไม้กลับมาอีกครั้งพร้อมหมุดหมายใหม่ ที่เติบโตขึ้น และกำลังก้าวอย่างมั่นคงไปสู่การเป็น “Hub ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติชั้นนำ” ที่จะตอบโจทย์สำหรับคนรุ่นใหม่ทุกคนที่มีหัวใจแห่งจิตอาสา “ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร หากคุณมีจิตอาสาเพื่อสิ่งแวดล้อม เราจะมีพื้นที่ให้กับคุณเสมอ” พี่เก่งย้ำกับผมอีกครั้งพร้อมรอยยิ้ม

จงทำในสิ่งที่คุณทำได้ ณ จุดที่คุณอยู่ ด้วยสิ่งที่คุณมี

เย็นของวันอาทิตย์ หลังจากขนของรอบสุดท้ายไปยังรถส่วนตัว ผมหันกลับไปมองบอร์ดแผนงานยาวเหยียดของกลุ่มใบไม้ที่กำลังจะเริ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ แล้วอมยิ้ม

บนบอร์ดนั้นไม่เพียงมีรายชื่อของผู้คนประกบคู่กับรายชื่อของกิจกรรมเท่านั้น แต่ผมยังเห็นความฝัน ความทะเยอทะยาน และความสวยงามของจิตใจ

ผู้คนทำหน้าที่ต่างกันไปตามความถนัด หากแต่ยังคงมุ่งมั่นไปสู่จุดประสงค์เดียวกัน

แผนการอันยิ่งใหญ่ของกลุ่มใบไม้ กำลังเริ่มขึ้นแล้ว และจุดเริ่มต้นนั้นไม่ใช่อื่นใด นอกจาก motto อันเรียบง่าย และชัดเจนของกลุ่มใบไม้ที่ยืนหยัดผ่านกาลเวลา

“จงทำในสิ่งที่คุณทำได้ ณ จุดที่คุณอยู่ ด้วยสิ่งที่คุณมี”

 

เรื่อง : โทรนัด เทียนอุดม
ภาพ : โชคนิธิ คงชุ่ม

ขอขอบคุณ

พี่เก่ง โชคนิธิ คงชุ่ม ที่จัดกิจกรรมดี ๆ และสละเวลาพูดคุย

สมาชิกชาวใบไม้ และกิจกรรม Volunteer Meeting Camp 5-6 พฤศจิกายน 2022

อ้างอิง

https://www.facebook.com/baimaigroup

https://www.seub.or.th/bloging/into-the-wild/baimai-craft-camp

Comments are closed.