fbpx
Comments are off for this post

อยู่ร่วมกับพี่จระเข้ได้มั้ย บทเรียนจากฟลอริดาถึงไทย

บทความโดย : พิเชฐ นุ่นโต

เห็นกระแสข่าวจระเข้ว่ายน้ำในทะเลแล้ว หลายๆท่านตอบสนองด้วยความกลัว และให้ลงมือจับจระเข้ตัวนั้นออกไปจากแหล่งท่องเที่ยว ในแง่หนึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่รวดเร็วดีครับ

แต่อีกแง่หนึ่งการย้ายสัตว์ป่าออกจากแหล่งอาศัยธรรมชาติ (ในกรณีเป็นสัตว์ป่านะครับ) ก็เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะระยะสั้นเท่านั้น ทางออกที่ยั่งยืนในระยะยาว เช่นการเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกับสัตว์ป่าในธรรมชาตินั้น มีการพูดถึงประเด็นนี้กันน้อยมาก และมองว่าเป็นไปไม่ได้

นักชีววิทยาเชิงอนุรักษ์หลายท่านได้ทำการวิจัยถึงภาวะความกลัวต่อสัตว์ป่าผู้ล่าขนาดใหญ่ในคนเรา พบว่าหากเราไม่ได้รับการสื่อสารข้อมูลและทำความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมสัตว์ชนิดนั้น เราจะมีภาวะรับรู้ความเสี่ยงที่สูงมาก (Perception of risk) หรือเป็นความกลัว ที่อาจจะเรียกได้ว่าสูงมากเกินไป มีความอดทนอดกลั้น (Tolerance) ต่ำที่จะอยู่ร่วมกับสัตว์ชนิดนั้น

งานวิจัยหนึ่งของมหาวิทยาลัยจอร์เจียพบว่า กลุ่มคนที่ได้รับข้อมูลความรู้พฤติกรรมของของแอลลิเกเตอร์  (Alligator สัตว์กลุ่มเดียวกับจระเข้แต่อยู่คนละวงศ์)  ผ่านการให้ความรู้ในห้องเรียน หรือออกสำรวจแหล่งอาศัยตามธรรมชาติของแอลลิเกเตอร์ มีทัศนคติและความเชื่อเชิงบวกที่จะอยู่ร่วมกับแอลลิเกเตอร์ได้ ต่างจากกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับความรู้พฤติกรรมของแอลลิเกเตอร์ที่ถูกต้องจากห้องเรียน หรือไม่ได้ไปสำรวจแหล่งอาศัยตามธรรมชาติ ผู้คนในกลุ่มนี้มีแนวโน้มทัศนคติและความเชื่อเรื่องการอยู่ร่วมกับแอลลิเกเตอร์ว่ามีความเป็นไปได้น้อยกว่า และรับรู้ถึงความเสี่ยงของการอยู่ร่วมกับแอลลิเกเตอร์ สูงกว่ากลุ่มที่ได้รับความรู้และสำรวจแหล่งอาศัยอย่างมีนัยสำคัญ

กรณีรูปธรรมที่ชัดเจนเรื่องความสำคัญของความรู้และการสัมผัสกับสัตว์ป่าตามธรรมชาติ นำไปสู่การอยู่ร่วมกับสัตว์ในกลุ่มจระเข้ เราเห็นได้จากชาวเมืองฟลอริดา (Florida) ที่อยู่ร่วมกับแอลลิเกเตอร์มานานหลายทศวรรษ

อเมริกาในรัฐฟลอริดามีแอลลิเกเตอร์ American alligator (Alligator mississipiensis) มากกว่า 1.3 ล้านตัว หรือคิดเป็นประชากรแอลลิเกเตอร์ 1 ตัว ต่อชาวฟลอริดา 15 คน ชาวเมืองอยู่ร่วมกับแอลลิเกเตอร์ได้โดยมีกฎหมายคุ้มครอง (ยกเว้นจะได้รับอนุญาตจากรัฐในการล่า)

มีการให้ความรู้ประชาชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ว่าจะอยู่กับแอลลิเกเตอร์อย่างไรให้ปลอดภัย เช่น หลีกเลี่ยงการเล่นน้ำในเวลาเช้าตรู่และตอนเย็น เพราะแอลลิเกเตอร์หากินในช่วงนั้น ไม่ปล่อยเด็กเล่นน้ำโดยลำพัง ไม่เล่นน้ำในพื้นที่ที่ทางการไม่อนุญาต ไม่ไห้อาหารแอลลิเกเตอร์อย่างเด็ดขาด ถ้าให้อาหารถือว่าผิดกฎหมายรัฐ และแอลลิเกเตอร์ตัวนั้นก็จะถูกจับออกจากพื้นที่ทันที ทำไมหรือครับ เพราะการให้อาหารแอลลิเกเตอร์ เขาจะเกิดการเรียนรู้แบบมีเงื่อนไข เมื่อมีมนุษย์ ก็มีอาหาร ซึ่งจะทำให้แอลลิเกเตอร์ไม่กลัวคน และเข้าหาเมื่อคนเดินผ่านแหล่งอาศัย

กรณีนี้คล้ายกับการให้อาหารลิงที่เขาใหญ่ หรือการให้อาหารช้างป่าที่ออกมากินพืชไร่ ที่เขาเรียนรู้ว่า เมื่อมีคนมา ย่อมมีอาหาร แต่สัตว์ป่าไม่ได้เชื่องตามการให้อาหารแต่อย่างใด การให้อาหารสัตว์ป่าหรือแอลลิเกเตอร์ จึงอันตรายต่อทั้งคนให้อาหารและผู้อื่นที่สัญจรผ่านไปมา

ดังนั้นการให้ความรู้ที่ถูกต้องกับประชาชนผ่านสื่อต่างๆทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ความรู้เรื่องพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของแอลลิเกเตอร์ จึงช่วยให้ประชาชนชาวฟลอริดาอยู่ร่วมกับแอลลิเกเตอร์มาได้อย่างยาวนาน แต่หากกรณีแอลลิเกเตอร์เข้ามาในบริเวณบ้าน และมีพฤติกรรมคุกคามต่อสัตว์เลี้ยงหรือเด็ก ชาวเมืองสามารถโทรสายด่วน ให้เจ้าหน้าที่เขาเข้ามาประเมินว่าเป็นอันตรายจริงๆหรือไม่ หากเข้าเกณฑ์ว่าเป็นอันตรายและมีพฤติกรรมคุกคาม เจ้าหน้าที่จะทำการกำจัดแอลลิเกเตอร์นั้นทันที ไม่ปล่อยกลับเข้าอาณาเขตของแอลลิเกเตอร์ตัวอื่น ซึ่งเป็นมาตรการของทางรัฐที่อยู่บนฐานนิเวศวิทยาประชากรและพฤติกรรม เพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์ประชากรแอลลิเกเตอร์อย่างยั่งยืน และคงความปลอดภัยให้ชาวเมืองฟลอริดา

ถามว่าแล้วมีคนบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากแอลลิเกเตอร์หรือไม่ ตอบว่ามีครับ ที่ผ่านมาตั้งแต่ ค.ศ.1948-2016 ทางคณะกรรมการอนุรักษ์สัตว์ป่าและประมง รัฐฟลอริดา (Florida Fish and Wildlife Conservation Commission) บันทึกไว้ว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวน 24 รายในรอบ 68 ปี แต่ทั้งนี้เมื่อเทียบกับการเสียชีวิตจากยุงด้วยโรคมาลาเรียแล้ว มนุษย์เราเสียชีวิตจากยุงราว 700,000 คนต่อปีนะครับ  ถามว่าสูงมั้ยกับการเสียชีวิตจากแอลลิเกเตอร์ คงตอบยากครับ คำตอบอยู่ที่ชาวเมืองฟลอริดาที่ยังคงอยู่ร่วมกับแอลลิเกเตอร์ได้จนถึงทุกวันนี้

ชาวเมืองฟลอริดามีความภูมิใจว่า เมืองของเขาเป็นเมืองหลวงของแอลลิเกเตอร์ โดยสื่อออกมาในรูปแบบสัญลักษณ์ของเมือง ของทีมอเมริกันฟุตบอลในนามทีมเกเตอร์ (Gators) ใช้สัญลักษณ์ทีมเป็นรูปเจ้าแอลลิเกเตอร์นี่ล่ะครับ

มีร้านขายของที่ระลึก ขายผลิตภัณฑ์จากแอลลิเกเตอร์ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐแล้ว นอกจากนี้ทางนักอนุรักษ์เองยังใช้แอลลิเกเตอร์เป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของพื้นที่ชุ่มน้ำระดับโลก อย่างพื้นที่ชุ่มน้ำเอเวอร์เกลดส์ ในอุทยานแห่งชาติเอเวอร์เกลดส์ (Everglades National Park) เพราะแอลลิเกเตอร์เป็นสัตว์ผู้ล่าอันดับสูงสุดในระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ

ถ้าเทียบกับระบบนิเวศบก ก็เสือโคร่งดีๆนี่เอง แอลลิเกเตอร์ช่วยควบคุมประชากรสัตว์น้ำให้มีภาวะสมดุล ช่วยสร้างหลุมบ่อน้ำให้สัตว์น้ำอื่นๆได้ใช้ช่วงแล้ง การสร้างความหลากหลายของแหล่งอาศัยจากแอลลิเกเตอร์ จึงช่วยเพิ่มโอกาสการอยู่รอดของพืชและสัตว์ในระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำเอเวอร์เกลดส์

ดูเหมือนว่าสัตว์ป่าที่หลายคนมองเป็นสัตว์ร้าย โลกสวยไปรึเปล่าว่าจะอยู่ร่วมกันได้ แต่ชาวเมืองฟลอริดาแสดงให้เห็นว่าทำได้ ผ่านการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันบนฐานความรู้แบบวิทยาศาสตร์ ยอมรับถึงสิทธิการดำรงอยู่ในธรรมชาติของพี่แอลลิเกเตอร์ แถมยังยกให้แอลลิเกเตอร์เป็นความภาคภูมิใจของชาวเมืองและทีมอเมริกันฟุตบอล

ย้อนกลับมาบ้านเรา หลายชุมชนพยายามหาทางอยู่ร่วมอย่างสันติกับลิง หรือช้างป่าที่ออกมาอยู่ใกล้มนุษย์ แม้เป็นเรื่องท้าทายอย่างมากที่จะอยู่ร่วมกับสัตว์ป่าเช่นจระเข้ หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่อื่นๆ แต่หากตั้งสติ พิจารณาหาแนวทางร่วมกันของฝ่ายต่างๆบนฐานความรู้ ถอดบทเรียนการอยู่ร่วมกับสัตว์ป่าในพื้นที่ต่างๆ และพยายามจัดการด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ น่าจะทำให้การแสวงหาแนวทางการอยู่ร่วมระหว่างคนกับสัตว์ป่า

เข้าใกล้สู่วิธีการที่เหมาะสมตามบริบทของแต่ละพื้นที่ สุดท้ายการพาตนเองและลูกหลานเข้าไปสัมผัสธรรมชาติและเรียนรู้ธรรมชาติของสัตว์ป่ารอบตัวบ้างเท่าที่ได้ คงมีส่วนไม่มากก็น้อยที่จะช่วยให้คนรุ่นต่อไป หาตำแหน่งแห่งหนอยู่ร่วมกับเพื่อนร่วมโลกสายพันธุ์อื่นได้อย่างสันติในอนาคตอันผันผวน…

 

อ้างอิง

Florida Fish and Wildlife Conservation Commission. 2017. Living with Alligators. http://myfwc.com. (Accessed September 2, 2017).

Johansson, M., Støen,O-G., Flykt, A. 2016. Exposure as an intervention to address human fear of bear human dimensions of wildlife. Human Dimension of Wildlife, doi: 10.1080/10871209.2016.1152419.

Mazzotti, F.J., Best, G.R., Brandt, L.A., Cherkiss, M.S., Jeffery, B.M. and Rice, K.G. 2009. Alligators and crocodiles as indicators for restoration of Everglades ecosystems. Ecological Indicator, 9, 137–149.

Skupien, G. M., Andrews, K. M. and Larson, L. R. 2016. Teaching Tolerance? Effects of Conservation education programs on wildlife acceptance capacity for the American Alligator. Human Dimensions of Wildlife, doi: 10.1080/10871209.2016.1147624.

Comments are closed.