fbpx
Comments are off for this post

9วัน8คืน ที่ฉันตื่นเคียงผู้พิทักษ์ไพร : ทุ่งใหญ่นเรศวร

 

สิ่งที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นเพียงห้วงเล็กๆของการเดินทาง มันคงเป็นเพียงเศษเสี้ยวที่เล็กจริงๆถ้าเทียบกับชีวิตของผู้พิทักษ์ไพรที่ทุกเช้าเขายังคงตื่นขึ้นมาก่อไฟหุงหาอาหารเท่าที่พอจะมีจะใช้ โดยที่มีของแห้งอาหารกระป๋องเป็นหลักแทบทุกมื้อ ภายใต้ภารกิจที่ยิ่งใหญ่คือปกป้องผืนป่าให้คนไทยทั้งชาติ


——-
ทุกการขยับนั้นมีความหมาย มีภารกิจ มีต้นทุน มีความเสี่ยง ในทุกๆครั้งที่ล้อหมุน : ฟันเฟืองทุกส่วนของรถกำลังสึกหรอลง น้ำมันในถังก็ถูกเผาไหม้ น้ำในหม้อน้ำ เดือดเป็นไอพวยพุ่ง ความเสี่ยงต่างๆในทุกมิติต่างเข้ามาทักทายเราตลอดเส้นทาง เหล่านี้นี่เองที่ทำให้ทุกการเดินทางในผืนป่าต้องคุ้มค่าที่สุด ภาพการขนวัสดุอุปกรณ์ต่างๆขึ้น-ลงจากกระบะรถ จากหน่วยฯหนึ่งสู่อีกหน่วยนหนึ่งจึงเป็นภาพที่คุ้นชินของพวกเรา ไม่ต่างอะไรกับภาพคนทำงานที่ใส่ชุดแต้มโคลนกันทั้งวัน
——-
หน่วยเซซาโว่ : ลูกไม้แดง
ที่แห่งนี้เองที่ผมพบจิ๊กซอคำตอบของบางสิ่งในชีวิต นั่นเพราะช่วงแรกที่มาถึงเรามีเวลาเพียงหนึ่งคืน กับการร่วมสนทนาอย่างออกรสกับพี่น้องป่าไม้ที่กำลังจัดชุดลาดตระเวน เป้ใบใหญ่ สัมภาระหนักอึ้ง สภาพอากาศที่แปรปรวน กับหนทางกลางขุนเขาที่ไม่รู้จะพาพวกเขาจะไปเจออะไร เอาเป็นว่าค่ำคืนนี้มิตรภาพดีๆเกิดขึ้นแล้ว
——-
แต่เช้าตรู่ เสียงจอบสับกองปูนผสมดังจากใต้ถุนหน่วยฯ ลุกจากเปลผ้าใบก็เห็นควันไฟออกมาจากโรงครัว เหมือนบอกว่าเช้านี้เริ่มขึ้นแล้ว อีกฝั่งหนึ่งชุดลาดตระเวนก็ตื่นขึ้นมาตระเตรียมข้าวของ ทีมของพวกเราเริ่มงานก่ออิฐสร้างห้องพักให้เจ้าหน้าที่หน่วยฯ อีกส่วนหนึ่งทำครัว ถึงตอนนี้ชุดลาดตระเวนก็พร้อมออกเดิน
——-
ระหว่างที่ชุดลาดตระเวนออกเดิน เหลือเพียงทีมเรากลุ่มใบไม้ มูลนิธิอนุรักษ์ป่าตะวันตก และเจ้าหน้าที่ประจำหน่วย ที่ช่วยกันทำงานส่วนต่างๆตามแผนงานในแต่ละช่วงวัน อีกใจหนึ่งก็นึกถึงชุดลาดตระเวน ว่าเขาจะเป็นอย่างไรกันบ้างหนอ นึกแล้วก็พลันหันกลับมาร่อนทรายต่อ เตรียมผสมปูนก่ออิฐทำห้อง ปราถนาให้ผู้ปิดทองหลังพระได้กินอิ่มนอนหลับ
——-
เช้าต้มกาแฟ สายจิบชา เที่ยงหุงหาข้าวมื้อหลัก บ่ายดีดกาแฟอีกสักรอบ เย็นย่ำทุกค่ำเราล้อมวงคุยกัน นี่ก็เป็นบริบทเล็กๆที่เข้ามาแทรกระหว่างการทำงานหนักตลอดช่วงวัน ให้ชีวิตได้รื่นไหล ไม่หมดเรี่ยวหมดแรงกันไปเสียก่อน และดูเหมือนว่าพวกเรามีความสุขตลอดที่ได้เข้าครัวมองดูเสบียงและคิดค้นเมนูใหม่ๆในแต่ละวัน
——-
ของขวัญระหว่างการเดินทาง ช่วงหนึ่งก่อนจะย้ายฐานปฏิบัติการจากหน่วยเดิม ไปสู่สถานีแม่ข่ายฯที่อยู่สูงขึ้นไป ก่อนย้ายเราจึงทยอยขนวัสดุขึ้นไปก่อนหนึ่งรอบ และวันนี้เองระหว่างทางกลางทุ่งพระฤาษี เราได้เดินขึ้นไปที่เนินเขาดูพระอาทิตย์ตก ตรงนั้นเป็นมุมที่สวยไม่ธรรมดา มองเห็นทุ่งไกลสุดลูกหูลูกตาก่อนจะมีแนวภูเขาสีเข้มและแสงสีทองตัดเอาไว้ที่ปลายขอบฟ้า พร้อมๆกันก็ลุ้นไปด้วยว่าจะมีเพื่อนไพรตัวไหนลงมากินโป่งที่อยู่ใกล้ๆตรงนี้ไหม นี่แหละนะของขวัญล้ำค่าของคนทำงาน
——-
สถานีวิทยุแม่ข่ายเขาพระฤาษ
ที่ระดับความสูงพอที่เราจะพยากรฟ้าฝนล่วงหน้าได้ เพราะมองเห็นฝนมาแต่ไกล กับภาระกิจติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่จะเป็นแหล่งพลังงานสำคัญจ่ายให้กับระบบของสถานีวิทยุแม่ข่ายฯ ซึ่งแน่นอนว่านั่นคือหัวใจของการสื่อสารผ่านความถี่ของผืนป่าตะวันตก ณ ที่แห่งนี้เองที่ในช่วงหนึ่งวันของการทำงานเราได้พบกับฟ้าฝนคะนอง ฝนพรำ ฝนตกหนัก ฟ้าครึ้ม แดดออก ฟ้าใส ไอหมอก หรือแม้กระทั่งพระอาทิตย์ทรงกลด
เสียงสื่อสารผ่านคลื่นความถี่ มีทั้งวันจนเราหายเหงา มันเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตสองสามวันนี้ไปแล้ว นั่นก็เพราะสถานีฯแห่งนี้ คือหัวใจของการสื่อสารในผืนป่า…
——–
มองเพียงพระอาทิตย์กับพระจันทร์ ไม่ต้องรู้วันเวลา นั่นก็เพราะภารกิจสำคัญที่สุด เราเพียงทำงานทีละส่วนๆแต่เช้าจนค่ำ หมดวันก็ผ่อน เสร็จงานเมื่อไหร่ค่อยกลับ นี่เองขยายภาพประโยคเด็ดของการเดินทาง “รู้วันไป ไม่รู้วันกลับ” ไปๆมาๆก็เกือบๆ10วันกับภารกิจในครั้งนี้ ยากจะลืม ยากจะจากลา จากจะห่างหาย
———
วันกลับ ผืนป่าช่วยดูแล : เมื่อวันกลับถูกกำหนดด้วยวัสดุอุปกรณ์ที่ถูกใช้จนหมด รวมถึงเสบียงก้นลังที่เหลือเพียงน้อยนิด เราจึงทยอยเก็บรายละเอียดงานกันจนวินาทีสุดท้าย ก่อนจะโหลดของขึ้นกระบะรถและเดินทางกลับ ฝ่ายสายฝนที่โปรยปรายตลอดทาง ผสมกับอาการไข้หวัดบางๆที่เริ่มมาทักทาย เราต่อสู้กับภูเขาลูกแล้วลูกเล่า ข้ามห้วย ลงเนิน ตะปีนหิน จนกลับออกมาถึงที่ทำการเขตฯ ที่จอดรถอีกคันไว้
———–
มันคือ “บัวขาว” รถผมที่ทำหน้าที่เป็นรถประจำกลุ่มใบไม้ไปแล้ว เสียอย่างเดียวเจ้าบัวขาวเป็นรถเพลาเดียว เดิมๆจากศูนย์ ใส่รองเท้าเป็นยางเก่าที่หมดสภาพ กับดอกยางที่เรียบดั่งดอกยางรถสูตรหนึ่ง ตัดสินใจยากเหลือว่าจะลุยฝ่าภูเขา3ลูกที่เหลือออกสู่ถนนดำได้อย่างไร เพราะฝนก็ตกหนักขึ้นเรื่อยๆขนาดนี้ สภาพดินคงลื่นมาก และพี่ๆทุกคนประเมินว่าไม่มีทางไปได้แน่นนอน พี่รินทร์แห่งมูลนิธิอนุรักษ์ป่าตะวันตกจึงเสนอว่าให้เอารถ4×4อีกคัน ลากขึ้นเขากลับออกสู่ถนนดำ ซึ่งใจเราทุกคนทั้งทีมคงอยากจะพักผ่อนมากกว่าลุยต่อ และแล้วก็เหมือนมีเสียงกระซิบดังๆจากพ่อปู่ฤาษี ผ่านเหตุการณ์ยางรั่วแบนติดพื้นของบรถ4×4 ที่ช่วยพวกเราตัดสินใจได้ทันที ว่าคืนนี้พักผ่อนที่นี่แล้วกัน พรุ่งนี้ตะวันขึ้น ถนนแห้ง ค่อยเดินทางกลับ
———–
และมื้อเย็นนี้ที่เราเสบียงหมด เราก็ได้รับการดูแลอย่างอบอุ่นจากแม่ครัวทุ่งใหญ่ฯ ที่ปรุงอาหารรสเลิศมาต้อนรับพวกเรา อร่อยจนลืม สายฝนที่กระหน่ำเมื่อสักครู่ไปเลย
———–
ท้ายที่สุดของบทความที่ไม่สมบูรณ์อะไรเลยบทความนี้ ที่ผมพยายามด้นความรู้สึกออกมาเป็นจังหวะๆ เท่าที่จะทำได้ ผมขอขอบพระคุณทุกๆความหวังดีของพี่น้องทุกคนที่มีต่อผืนป่า ขอบคุณโอกาสจาก “บินนาน” ขอบคุณธรรมชาติที่ดูแล ขอบคุณทีมกลุ่มใบไม้ทั้งหน้างานและเบื้องหลัง และขอบคุณทุกถ้อยคำแห่งพลังใจที่ขับขานเข้ามาทุกห้วงทำนอง
“ทำในสิ่งที่เราทำได้ ณ จุดที่เราอยู่ ด้วยสิ่งที่เรามี”

#ส่วนเราไปทำอะไรบ้าง ให้ภาพเล่าเรื่องนะครับ

#wearebaimai #กลุ่มใบไม้
————
ถ่ายภาพ/เรื่อง : โชคนิธิ คงชุ่ม
ภารกิจ : โครงการ ๔๐ ปี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

Comments are closed.