fbpx
No comments yet

3 นกสุดสวยในเมือง (Top 3 Birds of Urban)

                                                                                                                                                           เรื่อง: อุเทน ภุมรินทร์ ภาพ: กุลพัฒน์ ศรลัมภ์

สัปดาห์นี้ ขอแนะนำนกสามัญประจำบ้านที่คนไทยส่วนใหญ่ล้วนคุ้นหน้าคุ้นตา แถมยังสุดสวย ชวนให้เรามาเฝ้ามอง สัก 3 ชนิดนะจ้ะ

นกตีทอง

1. นกตีทอง (Coppersmith Barbet) เริ่มด้วย “ราชินีนกเมือง” แสนสวย เจ้าของเสียงร้อง “ต๊ง ต๊ง ต๊ง…” ก้องกังวาน จนเป็นที่มาของชื่อ เพราะฟังเสียงราวกับว่า มีใครไปตีทองหรือโลหะอยู่บนยอดไม้? “Angry bird” ชนิดนี้ มีลำตัวด้านบนสีเขียว หน้าผากสีแดง ใบหน้าสีดำ มีคิ้ว บริเวณใต้ตา และคอสีเหลือง ตัดกันกับแถบสีแดงบริเวณคอด้านล่าง อกตอนบนสีเหลือง อกตอนล่างและท้องสีขาวอมเหลืองมีลายขีดสีเขียวกระจายทั่ว เจ้าตีทองทำรังเลี้ยงลูกน้อยในโพรงไม้เช่นเดียวกับกลุ่มนกโพระดกชนิดอื่น โดยใช้ปากที่หนาและแข็งแรง เจาะโพรงตามกิ่งไม้ที่แห้งตายคาต้น พวกมันกินผลไม้เป็นอาหารหลัก ยามที่ต้นไทร หรือต้นตะขบฝรั่งออกผลสุก เราจึงสามารถพบสกุณาแสนสวยนี้ได้จำนวนมาก

 

นกสีชมพูสวน

2. นกสีชมพูสวน (Scarlet-backed Flowerpecker) ชื่ออังกฤษเรียกตามแถบสีแดงสดตลอดแนวกลางหลังของนกตัวผู้ ตัดกับลำตัวสีดำขลับที่เมื่อต้องแสงจะเหลือบสีน้ำเงิน ส่วนนกตัวเมียลำตัวสีน้ำตาล มีสีแดงแค่เพียงบริเวณตะโพกเท่านั้น ลำตัวด้านล่างของทั้งสองเพศสีขาว นกวัยเด็กมีลำตัวสีน้ำตาลเหมือนตัวเมีย แต่มีโคนปากสีส้ม นกตัวผู้วัยเด็กมีขนสีแดงแซมตามกระหม่อมและหลัง นกจิ๋วชนิดนี้ เป็นกลุ่ม “นกกาฝาก (Floverpecker)” เพราะมีอุปนิสัยที่มักกินน้ำหวานและผลไม้จากต้นไม้ตระกูลกาฝาก–พืชเบียน (parasite) ขึ้นเกาะบนกิ่งของต้นไม้ชนิดอื่น อาศัยดูดอาหารจากต้นที่มันเกาะ เมื่อนกกินผลกาฝากจนอิ่มแล้ว มันจะถ่ายเมล็ดกาฝากที่มียางเหนียวหนืดราวกับกาวน้ำออกมา นกกาฝากจึงต้อง “เช็ดก้น” กับกิ่งไม้ให้อุจจาระหลุดจากก้น เมล็ดในมูลนกจะงอกและโตเป็นกาฝากต้นใหม่ต่อไป

bird1

3. นกกินปลีอกเหลือง (Olive-backed Sunbird) หลายคนรู้จักนกฮัมมิ่งเบิร์ด จนเข้าใจว่า “เคยเห็นนกฮัมมิ่งเบิร์ดมากินน้ำหวานที่ดอกไม้หน้าบ้าน” ทั้งๆ ที่มันไม่พบในประเทศไทยต้องชี้แจงชัดๆ ว่า นกกินปลี (Sunbirds) และ Hummingbirds เป็นนกคนละกลุ่มกัน แต่ที่มีหน้าตาดูเผินๆ คล้ายกัน เพราะทั้งสองต่างวิวัฒนาการมาให้มีปากยาว เหมาะสำหรับไว้จิ้มเข้าไปในช่อดอกไม้เพื่อใช้ลิ้นเลียกินน้ำหวานเหมือนๆ กัน
นกทั้งสองเพศมีลำตัวด้านล่างสีเหลืองสด นกตัวเมียไม่มีสีน้ำเงินเข้มที่คอเหมือนตัวผู้ และมีแถบคิ้วสีเหลือง แต่นกตัวผู้ชุดขนหลังจับคู่ผสมพันธุ์ (eclipse plumage) มีแถบสีน้ำเงินเข้มเฉพาะที่กลางคอเท่านั้น ขณะเกี้ยวพาราสี (นกจีบกัน) จะเห็นกระจุกขนสีส้มที่บริเวณรักแร้ของตัวผู้

สนใจดูนกในเมือง สามารถเข้าร่วมกิจกรรม “Bird walk เดินชมนกในสวน” ประจำสุดสัปดาห์แรกของเดือน โดยมีวิทยากรจากสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (BCST) พาเดินชมนกที่สวนรถไฟและสวนหลวง ร.๙ งานนี้ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ จ้ะ รายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.facebook.com/bcst.or.th

ข้อมูลอ้างอิง: http://www.oknation.net/blog/plains-wanderer/

Comments are closed.