fbpx
Comments are off for this post

ใจเขา(สัตว์) ใจเรา…การล่า ความกลัว และอารมณ์โศกเศร้าหลังการตายของสัตว์ป่า

เหตุการณ์เสือดำถูกยิงตายที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ไม่กี่วันที่ผ่านมา กระแสสังคมต่างรู้สึกสูญเสีย จากความตายของเสือดำตัวหนึ่ง บางท่านสื่อสารออกมาเป็นถ้อยคำ บ้างสื่อสารเป็นบทกวี และบางคนลงฝีแปรงวาดความเศร้า ไว้อาลัยแด่เพื่อนต่างสายพันธุ์ ชุมชนมนุษย์กลุ่มหนึ่ง กำลังจัดพิธีไว้อาลัยแก่เสือดำทุ่งใหญ่ฯที่จากไปคล้ายกับการไว้อาลัยข้ามสปีซีย์

เกิดอะไรขึ้นกับสัตว์ป่าที่ยังมีชีวิต หลังความตายของสายพันธุ์เดียวกัน…

หากสัตว์ชนิดนั้นรับรู้ได้ถึงความเสี่ยงจากการล่าของมนุษย์ สมาชิกที่เหลือเลือกที่จะหลีกเลี่ยงใช้เส้นทางนั้นในการหากิน หรือหลักในทางพฤติกรรมสัตว์ได้บ่งชี้ว่าสัตว์นั้นเกิด “ความกลัว”

จากงานวิจัยของ เคส์และคณะ [1] ได้ทำการเปรียบเทียบพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ในพื้นที่ไม่อนุญาตให้ล่าสัตว์และพื้นที่อนุญาตให้ล่าแต่จัดการอย่างเข้มงวดโดยรัฐ คณะวิจัยติดกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าทั้งหมด 1,947 แห่ง ใน 32 อุทยานแห่งชาติของอเมริกา พบว่าสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่ เช่น หมีดำ (American Black Bear) และ บอบแคต (Bobcat) หลีกเลี่ยงใช้เส้นทางเดินป่าที่มีคนผ่านและพบเจอร่องรอยได้น้อยมากในพื้นที่ที่มีการเปิดให้ล่าสัตว์เมื่อเทียบกับพื้นที่ไม่อนุญาตให้ล่าสัตว์

นอกจากหลีกเลี่ยงที่จะพบเจอกับมนุษย์แล้ว  แค่ได้ยินเสียงสัตว์ป่าบางชนิดก็เผ่นหนีอย่างรวดเร็วในรัฐแคลิฟอร์เนีย  นักวิจัยทดลองเปิดเสียงกบและเสียงมนุษย์ให้เสือพูม่า (Puma) ได้ยินขณะผ่านมากินเหยื่อบริเวณที่เสือพูม่าล่าทิ้งไว้ [2] เมื่อได้ยินเสียงกบร้องเสือพูม่ายังกินเหยื่ออย่างสบายใจแต่เมื่อเปลี่ยนเป็นเสียงคนคุยกัน  มากกว่า 80% ของเคสที่ทดลอง เสือพูม่ากระโดดหนีทิ้งเหยื่อทันทีหายไปในความมืด มีตัวที่กลับมากินซาก แต่ก็ใช้เวลาลดลง นั่นหมายถึงปริมาณการกินที่ลดลงด้วยหากถูกคนรบกวน

(คลิปเสือพูม่ากระโจนหนี เมื่อได้ยินเสียงมนุษย์คุยกัน)

รัฐแคลิฟอร์เนียมีประวัติศาสตร์การเปิดให้ล่าเสือพูม่ามายาวนานในต้นทศวรรษที่ 1940 ก่อนพึ่งประกาศคุ้มครองช่วงปี 1990 แต่ปัจจุบันเสือพูม่าก็ยังได้รับผลกระทบจากมนุษย์ ความกลัวเช่นนี้ไม่เป็นผลดีนัก เพราะอาจทำให้เสือพูม่าต้องเสียพลังงานหากถูกรบกวนขณะกินเหยื่อ และเสืออาจไม่กล้าโยกย้ายถิ่นระหว่างหย่อมป่าที่มีชุมชนอยู่ใกล้ๆ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อสถานภาพของเสือพูม่าในอนาคต

ตะกอนตกค้างจากการล่าคือความกลัว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีหลังสัตว์ป่าตาย สมาชิกที่เหลือโศกเศร้า คล้ายกับคนเรา เพียงแต่ต่างรูปแบบออกไป และมีพฤติกรรมคล้ายการไว้อาลัย (Mourning ritual)  ซึ่งสื่อออกมาในรูปแบบของอารมณ์ มากกว่าสื่อในเชิงสัญลักษณ์ที่มนุษย์กระทำกัน

ตัวอย่างในกรณีของชิมแปนซี  (Chimpanzee) เมื่อเพื่อนสมาชิกในฝูงตาย บางตัวไม่ยอมกินอะไรเลยหลายวัน  นิ่งเงียบ มีกิจกรรมน้อยลง [3] สมาชิกในฝูงจะมารวมตัว นั่งนิ่งชิดติดกัน สำรวจจับใบหน้า ใช้เศษหญ้าลูบไล้ร่างกายชิมแปนซีที่ตาย ส่งเสียงไอ คล้ายกับการร้องไห้ในมนุษย์ ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์สังเกตพบ ชิมแปนซีช่วยทำความสะอาดฟันให้กับชิมแปนซีที่ตายแล้ว ซึ่งนี่อาจใกล้เคียงกับการไว้อาลัยในมนุษย์ [4,5]

( คลิปชิมแปนซีใช้เครื่องมือทำความสะอาดฟันศพ )

 

 

กรณีเมื่อลูกชิมแปนซีตาย แม่บางตัวมีพฤติกรรมที่ยากจะอธิบาย คือการแบกศพลูกติดตัวไปด้วยเป็นเวลาหลายวัน เช่นแม่ชิมแปนซีชื่อ จิเร่ (Jire) ในป่าประเทศกินี (Guinée) ลูกชื่อ จิมาโต้ (Jimato) ป่วยตายด้วยโรคทางเดินหายใจ นักวิจัยพบว่า จิเร่แบกลูกของตนเองนานกว่า 63 วัน กว่าจะยอมปล่อยลูกของตนเองไป  [6]

ใช่ว่าพฤติกรรมที่คล้ายความโศกเศร้า จะจำกัดอยู่ในญาติที่ใกล้ชิดเราที่สุดอย่างชิมแปนซี แต่ในช้าง หมา แม้กระทั่งนกก็มีพฤติกรรมที่เต็มไปด้วยอารมณ์เช่นนี้ หลังเพื่อนหรือสมาชิกในฝูงตายลง หากช้างแอฟริกาพบซากกระดูกช้างด้วยกัน พวกเขาจะหยุดนิ่ง แตะสัมผัส  [7] บางฝูงมีพฤติกรรมกลับไปที่ซากศพของครอบครัวตน พร้อมกับยืนนิ่งอยู่เฉยๆ ซึ่งไม่ใช่พฤติกรรมปรกติที่ช้างจะยืนนิ่งพร้อมกันเป็นเวลานาน [8]

ซุปหางเสือดำที่ต้มในป่าทุ่งใหญ่ตะวันตกคืนนั้น อาจได้มาด้วยความสนุก ลิ้มซึ่งอำนาจในตน แต่คนอีกไม่นับต่างโศก คนทำงานปกปักล้วนเศร้า  สัตว์ป่ามีความกลัว ความเศร้าโศกที่อาจต่างออกไปจากมนุษย์ แต่ทุกชีวิตล้วนรู้สึกถึงความกลัว ความเจ็บปวด และมีสายใยผูกพันลึกซึ้งทางสังคม

ข้อเท็จจริงเรื่องใจสัตว์ที่ยกมา คล้ายเป็นความเศร้าและพฤติกรรมที่มีรูปแบบโบราณ ไม่ซับซ้อนเช่นมนุษย์ แต่ก็บอกใบ้ถึงความเชื่อมโยง ณ จุดใดจุดหนึ่งของการคัดสรรตามธรรมชาติ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เราเป็นสิ่งมีชีวิตในรูปแบบหนึ่งที่วิ่งวนผ่านกัน เป็นพี่น้องกัน? เมื่อครั้งโลกยังร้อน หรือหนาวเย็นกว่านี้ แม้เราจะยังหยุดเป็นผู้ล่าสูงสุดไม่ได้ แต่การหยุดคร่าเพื่อนร่วมโลกเพียงเพื่อความสนุก เห็นว่าเพื่อนสัตว์มีสิทธิ์ในการดำรงอยู่ ก็น่าจะทำให้ชุมชนมนุษย์ขัดเกลาตนเอง มองโลกอย่างเห็นใจ เพราะโลกของลูกหลานมนุษย์ และลูกหลานสัตว์ป่า อาจต้องการความเห็นใจเขา เห็น..ใจเรา เพื่อความอยู่รอด เพื่อความสมดุล มากกว่าในยุคของเราก็เป็นได้…

( ภาพ : Prakasit Chancharas , Chorkung , Current Biology/Dora Biro [6] ,เดินเท้า1 / WildWalker1  )

 

 

อ้างอิง (References)

[1] Kays, R., Parsons1, A. W., Baker, M. C., Kalies, E. L., Forrester, T., Costello, R., Rota, C. T., Millspaugh, J. J. and McShea, W. J. 2016. Does hunting or hiking affect wildlife communities in protected areas? Journal of Applied Ecology.  doi: 10.1111/1365-2664.12700.

[2] Smith, J. A., Suraci, J. P., Clinchy, M., Crawford, A., Roberts, D., Zanette, L. Y. and Wilmers, C. C. 2017. Fear of the human ‘super predator’ reduces feeding time in large carnivores. Proceeding of Royal Society B. 284: 20170433, http://dx.doi.org/10.1098/rspb.2017.0433.

[3] Osterath, S. 2016. Do animals mourn their dead? http://www.dw.com/en/do-animals-mourn-their-dead/a-19564029 (accessed; 9 Feb 2018).

[4] Cronin, K. A., van Leeuwen, E. J. C., Mulenga, I. C. and Bodamer, M D. 2011. Behavioral response of a chimpanzee mother toward her dead infant. American Journal of Primatology. doi: 10.1002/ajp.20927.

[5] van Leeuwen, E. J. C, Cronin, K. A. and Haun, D. B. M. 2017. Tool use for corpse cleaning in chimpanzees. Nature: Scientific Reports. 7: 44091, doi:10.1038/srep44091

[6] Biro, D.,  Humle, T.,  Koops, K.,  Sousa, C., Hayashi, M. and  Matsuzawa, T. 2010. Chimpanzee mothers at Bossou, Guinea carry the mummified remains of their dead infants. Current Biology. 20: 351-R352.

[7] McComb, K., Baker, L. Moss, C. 2006. African elephants show high levels of interest in the skulls and ivory of their own species. Biology Letter. 22, 2(1): 26–28.

[8] Parker, L. 2016. Rare Video Shows Elephants ‘Mourning’ Matriarch’s Death. https://news.nationalgeographic.com/2016

/08/elephants-mourning-video-animal-grief/ (accessed; 10 Feb 2018).

 

 

Comments are closed.