fbpx
1

ค้างคาว นักผสมเกสรที่ยิ่งใหญ่

รู้หรือไม่ว่า “ค้างคาว” นอกจากจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลกแล้ว ค้างคาวยังมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศ นั่นคือการทำหน้าที่เป็นตัวผสมเกสรให้กับผลไม้หลายชนิด

ค้างคาวบางกลุ่มมีพฤติกรรมการหากินคล้ายกับแมลงจำพวกผึ้ง และผีเสื้อ นั่นคือค้างคาวในกลุ่มที่กินผลไม้ ที่ส่วนใหญ่อยู่ในวงศ์ของค้างคาวแม่ไก่ เช่น ค้างคาวเล็บกุด ค้างคาวบัว ค้างคาวขอบหูขาว เป็นต้น ค้างคาวเหล่านี้จะกินน้ำหวานและผลไม้เป็นหลัก ทำให้เวลาค้างคาวเข้าไปสัมผัสบริเวณช่อดอกของพืชผลตามสวนผลไม้ก็มักจะมีละอองเรณูติดไปกับค้างคาวและนำไปติดกับดอกอื่นๆในสวน ซึ่งเป็นการช่วยผสมเกสรให้กับผลไม้ได้เป็นอย่างดี

ในทางกับกลับเกษตรกรกลับมีความเชื่อว่าค้างคาวเป็นศัตรูพืชที่ทำลายผลผลิตไห้ได้รับความเสียหาย แต่หลายๆ งานวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศพบว่า ค้างคาวในกลุ่มกินผลไม้จะสร้างความเสียหายเพียง 5% เท่านั้น โดย Handley (1991) นักวิจัยชาวอเมริกันกล่าวว่า เมื่อเทียบกับพวกแมลงจำพวกแมลงวันและด้วง ค้างคาวดูเหมือนจะไม่มีอันตรายต่อผลไม้ในสวนของเกษตรกรเท่าไหร่นัก เพราะค้างคาวในกลุ่มนี้หากไม่มีน้ำหวานให้พวกมันกิน มันจะหันไปเลือกกินผลไม้ที่สุกงอมเต็มที่ ซึ่งเป็นผลไม้ที่เกษตรกรนั้นไม่เก็บเกี่ยว

bat-02

Photo by Merlin D. Tuttle

ในขณะที่บทบาทที่สำคัญอย่างหนึ่งของค้างคาว นั่นคือการเป็นผู้ผสมเกสรให้กับกลุ่มพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้อย่างน่าทึ่ง โดยเฉพาะทุเรียนที่มีดอกบานในช่วงเวลากลางคืน ดอกของทุเรียนนั้นมีสีขาว และมีกลิ่นฉุน รวมทั้งมีละอองเรณูที่อุดมไปด้วยน้ำตาล แป้ง และไขมันที่ดึงดูดค้างคาวให้เข้ามาช่วยผสมเกสรได้เป็นอย่างดี

bat-03

 

ดร. สาระ บำรุงศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านค้างคาวกล่าวว่า ค้างคาวในกลุ่มนี้เป็นผู้ผสมเกสรที่มีอยู่ตามธรรมชาติที่ช่วยทำให้ทุเรียนติดผลได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับผู้ผสมเกสรชนิดอื่น และสวนทุเรียนที่ทำการเกษตรแบบผสมผสานจะช่วยดึงดูดให้ค้างคาวเข้ามาใช้ประโยชน์ในสวนได้มากกว่าสวนที่ทำการเกษตรเชิงเดี่ยว เนื่องจากมีอาหารให้ค้างคาวกินตลอดทั้งปี ซึ่งจะช่วยให้ค้างคาวในกลุ่มนี้เข้ามาช่วยผสมเกสรและช่วยทำให้ทุเรียนติดผล

durian

 

สวนทุเรียนโบราณจังหวัดนครนายก โดยคุณลุงชาตรี โสวรรณตระกูล น่าจะเป็นสวนที่ชี้ผลสำเร็จได้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับการใช้ค้างคาวและสัตว์อื่นๆเข้ามาช่วยผสมเกสรผลไม้ในสวน ซึ่งคุณลุงชาตรีได้รวบรวมสายพันธุ์ทุเรียนมากกว่า 50 ชนิด และทำสวนแบบปลอดสารพิษ ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการดูแลสวนไปมาก และยังช่วยทำให้สวนมีสภาพแวดล้อมเหมาะต่อการเป็นแหล่งอยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด และหนึ่งในนั้นคือ ค้างคาวกินผลไม้ที่เป็นนักผสมเกสรขาประจำในสวนทุเรียนของคุณลุงชาตรี ด้วยความเชื่อที่ว่า “เมื่อเราไม่เบียดเบียนธรรมชาติ ธรรมชาติก็จะไม่ทำร้ายเรา แต่กลับให้สิ่งที่ดีตอบแทนมา” ทุเรียนในสวนของคุณลุงชาตรีจึงติดผลโดยไม่ต้องจ้างแรงงานมาปัดดอก และเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวทุเรียนทั้งหมดจะถูกขายในราคาที่สูงกว่าท้องตลาดเพราะเป็นผลผลิตที่ปลอดสารเคมี และผลผลิตยังถูกจับจองจนหมดจากกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

เมื่อเราจัดการพื้นที่ให้เป็นธรรมชาติ ปลอดสารเคมี ก็จะเอื้อให้ค้างคาวเข้ามาใช้พื้นที่ ช่วยผสมเกสรให้กับผลผลิต ทำให้ช่วยลดต้นทุนในการจ้างแรงงานบางส่วนในสวน จึงอาจกล่าวได้ว่า “ค้างคาว” เป็นนักผสมเกสรที่ยิ่งใหญ่ และหากเราหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติไม่ว่าจะอยู่ในฐานะผู้บริโภคหรือผู้ผลิตก็ตาม ต่างก็สามารถช่วยเป็นแรงผลักดันหรือฟันเฟืองเล็กๆ ที่ส่งเสริมให้การอนุรักษ์เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราสามารถเลือกที่จะทำได้

บทความโดย : วรรณนิภา บุญมา

ภาพประกอบ : โชคนิธิ คงชุ่ม , http://www.merlintuttle.com/gallery/

อ้างอิง:Handley C O, Gardner A L, Wislson D E. Movement [In: Demography and nature history of the common fruit bat, Artibeus jamaicensis, on Barrn Colorado Island, Panama. C. O. Handley Jr, D. E. Wilson and A. L. Gandner, eds]. Smithsoniom Institution Press. Washington, D. C.1991.

Comments are now closed for this article.