fbpx
No comments yet

Angriest Birds

ในโลกออนไลน์ เมื่อเจ้านกตัวสีแดงจี๊ด คิ้วเข้ม ถูกเจ้าหมูตัวเขียวขโมยไข่สุดหวงไปจากรัง ภารกิจออกตามหาไข่สุดรักกลับคืนมาด้วยอารมณ์โกรธกริ้ว ซึ่งมีแฟนๆ ทั่วทุกมุมโลกคอยช่วยเหลือ และสนุกไปกับเกมสุดฮิตอย่าง “Angry Bird” บนสมาร์ทโฟน

 

ทว่าในโลกความจริง กลับมีคนจำนวนน้อยเหลือเกิน ที่ตระหนักรับรู้ว่า นกหายากหรือใกล้สูญพันธุ์ของโลกนี้ (World’s Angriest Birds) มีจำนวนถึง 190 ชนิดกำลังตกที่นั่งลำบาก หมิ่นเหม่ต่อการใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง สาเหตุทั้งหมดมาจากการกระทำของมนุษย์เอง ที่ส่งผลกระทบต่อโลกของเรา ไม่ว่าจะเป็นการทำลายป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำหรือแหล่งอาศัยของนก อันเป็นเสมือน “บ้าน” ของมัน หรือคุกคามต่อตัวนกโดยตรง จากการล่า หรือส่งผลกระทบทางอ้อม โดยการสร้างมลพิษหรือการใช้สารเคมี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ย่อมตกค้างในระบบนิเวศ แล้วส่งผลถึงตัวนกด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆ สารพิษที่เราใช้กำจัดหนูตามบ้าน จะตกค้างอยู่ในตัวหนู แล้วพอนกแสกบ้าน (Barn Owl) มากินหนู นกแสกจะตายเพราะได้สารพิษที่ตกค้างอยู่ในตัวหนู เป็นต้น

 

ในขณะที่เจ้า “Angry Bird” กำลังเผชิญหน้าต่อสู้เพื่อชีวิตรอดจากเจ้าหมูสีเขียวในโลกเสมือน นก “Angriest Birds” ทั้งหลายก็ต้องเผชิญหน้ากับการถูกคุกคามจากผลกระทบที่มนุษย์สร้างขึ้น ในโลกแห่งความจริง เหมือนๆ กัน

ด้วยเหตุนี้เอง ทางบริษัท Rovio Entertainment จำกัด ผู้สร้างเกม “Angry Bird” จึงเผยไอเดียเจ๋ง เปิดตัวเวปไซต์ใหม่ล่าสุด เพื่อช่วยสนับสนุน “โครงการป้องกันการสูญพันธุ์ของสมาพันธ์อนุรักษ์นกสากล” (BirdLife Internation’s Preventing Extinctions Programme)

เวปไซต์ใหม่เอี่ยมของเจ้า “Angry Bird” นี้ มีแฟนๆ มากกว่าล้านคนมาเข้าชมและสนุกกับเจ้านกตัวแดงจอมโกรธเวอร์ชั่นล่าสุด ในเวปเพจเดียวกันนี้ จะมีข้อมูลนก 10 ชนิดหรือ Top Ten ที่จำนวนประชากรในธรรมชาติเหลือน้อยยิ่ง ว่ากันที่หลักไม่กี่ร้อยตัว (Bird in Danger) ในข้อมูลของนกแต่ละชนิดในสิบตัวนี้ จะประกอบไปด้วย ข้อมูลประชากรของมันว่า มีเหลืออยู่จำนวนเท่าใดในธรรมชาติ มีภัยคุกคามอะไรบ้าง เช่น ป่าอันเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยถูกทำลาย ทำให้มันลดจำนวนลงหรือการลักลอบล่านกเพื่อจับมาขายเป็นสัตว์เลี้ยง ฯลฯ รวมไปถึงแผนการดำเนินการของ “BirdLife” ที่จะช่วยป้องกันการสูญพันธุ์หรือลดจำนวนลงของนกเหล่านี้ เช่น สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของนกกับคนท้องถิ่น หรือสร้างโครงการสิ่งแวดล้อมศึกษาในโรงเรียนท้องถิ่น เป็นต้น

 

ยกตัวอย่าง 1 ใน 10 นกที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง เช่น นกชายเลนปากช้อน “Spoon-billed Sandpiper”—นกชายเลนลำตัวเท่านกกระจาบ แต่มีรูปลักษณ์ปากเป็นเอกลักษณ์ ปลายปากแผ่แบนคล้ายช้อนชงกาแฟ พวกมันมีประชากรในพื้นที่แหล่งสร้างรังวางไข่ในรัสเซียไม่เกิน 400 ตัว

เจ้า’ปากช้อน’ เป็นนกอพยพ ถึงช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์พวกมันจะเดินทางจากชายฝั่งแปซิฟิกด้านตะวันตกของรัสเซียที่มันเกิดหรือเลี้ยงลูก หนีหนาวมาหากินในแถบเอเชียตอนใต้ ตลอดระยะการเดินทางกว่า 8000 กม.ของมัน ผ่านและแวะพักตั้งแต่ประเทศญี่ปุ่น ประเทศจีน และเกาหลีใต้ ก่อนที่จะแลนดิ้งลงจอดบนแหล่งพักพิงหลักในประเทศพม่า ประเทศบังกลาเทศ ประเทศไทย ประเทศเวียดนาม และทางตอนใต้ของจีน

จากตัวอย่างนกชายเลนปากช้อน เราจึงเห็นได้ชัดว่า การอนุรักษ์นกหายากหลายชนิดของโลก จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องได้รับความร่วมมือจากนานาประเทศ เพื่อช่วยกันต่อต้านการสูญพันธุ์ของนกเหล่านี้

ผู้สร้าง “Angry Bird” จึงชวนเรา ให้ช่วยกันสนับสนุนกองทุน “ป้องกันการสูญพันธุ์ของนกหายาก-สมาพันธ์อนุรักษ์นกสากล” เพื่อนำเงินดังกล่าวไปทำการอนุรักษ์ ยืดเวลาให้นกป่าที่สง่างามอยู่อาศัยในธรรมชาติไปอีกนาน

เยี่ยมชมแองกี้เบิร์ดใจดีช่วยนกหายากได้ที่ http://birdlife.angrybirds.com/

 

ส่วนอีกหนึ่งโปรเจ็คสุดสร้างสรรค์จากแดนอาทิตย์อุทัย ของสมาคมอนุรักษ์นกป่าในญี่ปุ่น (Wild Bird Society of Japan) โดยบริษัทครีเอทีฟอย่าง Beacon Communications ชวนอนุรักษ์นกหายากของญี่ปุ่นสี่ชนิดอย่างได้ผล (*นกกระเรียนหัวมงกุฎแดง Red -crowned crane มีประชากรประมาณ 1013 ตัว, นกกระสาตะวันออก Oriental Stork มีประชากรประมาณ 108 ตัว,  นกอัลบาทรอสหางสั้น Short-tailed  Albatross มีประชากรประมาณ 2150 ตัว และนกจาบปีกอ่อนอกเหลือง Yellow-breasted Bunting มีประชากรประมาณ 20 ตัว)

เมื่อคนหรือนักอนุรักษ์ ส่งเสียง “ขอร้อง” ให้ช่วยอนุรักษ์นกหายากแล้ว ยังดังไม่น่าสนใจพอ พวกเขาเลยหาโอกาสให้นกเหล่านี้ ได้ ‘ส่งเสียง’ ขอร้องเสียเอง

โดยนำเสียงนกไปประกอบในเพลงที่สามารถเปิดตามผับได้ อัลบั้มที่มีชื่อว่า “Voice of Endangered Birds—เสียงของนกใกล้สูญพันธุ์” เพื่อส่งไปถึงหูของวัยรุ่นวัยมันส์ในโตเกียว สามารถฟังเสียงนก แล้วโยกย้ายส่ายเอวตามเพลงนี้ได้แถมแต่ละชุด ยังทำออกมาแบบ ‘Limited’ เท่าจำนวนนกหายากแต่ละชนิดที่เหลือจริงๆ ในประเทศญี่ปุ่น หาซื้อได้ง่าย ตามร้านขายซีดีทั่วไป แล้วเงินกำไรที่ได้จากซีดีเพลง “Bird song” นี้ นำไปทำงานอนุรักษ์นกหายากเหล่านั้น เพื่อให้เสียงร้องอันเพราะพริ้งเหลืออยู่ในป่าญี่ปุ่นตลอดไป

ฟังเสียงเพลงตัวอย่างได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=jSSrLOP7dEg

บ้านเราน่าจะยืมไอเดียดีๆ เหล่านี้ มาชวนคนไทยช่วยกันอนุรักษ์นกป่าในบ้านเราบ้าง จะเริ่มต้นจัด “10 Thalandi’s Angriest bird”—10 อันดับนกใกล้สูญพันธุ์ยิ่งของไทย แล้วรัฐบาลจัดกองทุนหรือชวนประชาชนสนับสนุนงานอนุรักษ์นกเหล่านี้

ดีกว่าจัดสรรทุนมหาศาล ไปสร้างโครงการฯ พัฒนาในพื้นที่ป่า อันเป็น “บ้าน” ของนกทั้งหลาย จากส่งเสริมกลายเป็นส่งสาปให้นกป่า เข้าใกล้คำว่า ‘หายาก’ ขึ้นไปเสียอีก

*นกทั้งสี่ชนิดไม่พบในประเทศไทย ดังนั้น ชื่อไทยของนก ผู้เขียนตั้งขึ้นจากชื่อภาษาอังกฤษ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถนึกถึงลักษณะหน้าตาของนกที่กล่าวถึงได้เท่านั้น

เรื่อง: อุเทน ภุมรินทร์

ข้อมูลอ้างอิง

ทรงกลด บางยี่ขัน. 2554. ต้นไม้ใต้ดวงอาทิตย์. สำนักพิมพ์อะบุ๊ค, กรุงเทพฯ. 216 หน้า.

http://thisisnotadvertising.wordpress.com/2011/10/10/wild-bird-society-of-japan-voice-of-endangered-wild-birds/

http://www.birdlife.org/community/2011/12/get-angry-fight-extinction/?utm_source=rss&utm_medium=rss&utm_campaign=get-angry-fight-extinction

http://www.rovio.com/en/news/blog/71/help-for-the-world%E2%80%99s-angriest-birds/

Comments are closed.