fbpx
Comments are off for this post

ทำไมต้องกำจัดสาบเสือในป่าธรรมชาติ

 

เมื่อเสาร์-อาทิตย์ที่ 24 – 25 เมษายน พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปร่วมกิจกรรมอาสากับ “กลุ่มใบไม้” ถอนต้นสาบเสือบริเวณทุ่งหญ้าหนองผักชีในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่  ภายใต้กิจกรรม ตะวันขึ้นตื่นพร้อมนก ตะวันตกหลับพร้อมดาว  จึงอยากนำเสนอมุมมองจากหลาย ๆ คนที่มีต่อสาบเสือ และสาเหตุที่กลุ่มใบไม้เลือกที่จะพาอาสาสมัครมาเหนื่อยถอนสาบเสือออกจากทุ่งหญ้าบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ท่ามกลางแสงแดดที่แผดเผา

 

ในมุมมองของคนที่เรียนนิเวศวิทยา การปรากฎของสาบเสือในพื้นที่ธรรมชาติในประเทศไทย ในฐานะพืชเบิกนำ (Pioneer species) ไม่ใช่เรื่องแปลก แม้ว่าจะรู้อยู่แก่ใจว่าสาบเสือคือพืชต่างถิ่นรุกราน (Alien invasive species) ที่สร้างความเสียหายแก่ระบบนิเวศธรรมชาติได้ และเป็น 1 ใน 100 ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมอย่างร้ายแรงของโลก ตามคู่มือ Global Invasive Species Database (GISD) ที่จัดทำขึ้นโดย IUCN (International Union for Conservation of Nature)  นั้นเป็นเพราะสาบเสือ (Siam weed) ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Chromoleana odoratum (L.)R.M. King & H. Rob.) นั้นแพร่กระจายมาอยู่ในประเทศไทยมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อราว ๆ พ.ศ. 2483 หรือไม่ต่ำกว่า 75 ปี ตามข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร โดยคาดว่าจะเมล็ดของต้นสาบเสือจะปะปนมากับน้ำอับเฉาในเรือสินค้าที่มาจากอเมริกากลางผ่านเวสต์อินดีส เด็กฮิปเตอร์สมัยนี้อาจจะงงว่าอะไรคือน้ำอับเฉา น้ำอับเฉาคือน้ำที่ถูกมาจากท่าเรือเพื่อใช้รักษาสมดุลของเรือในระหว่างแล่นข้ามมหาสมุทรและจะถูกปล่อยออกเมื่อเรือถึงที่หมาย  และแน่นอนย่อมมีสิ่งมีชีวิตหรือส่วนของสิ่งมีชีวิตที่มาจากฟากโลกหนึ่งติดมาด้วย

แล้วทำไมวันนี้เราถึงต้องมาถอนสาบเสือออกจากทุ่งหญ้าบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในเมื่อมันได้กลายเป็นไม้ล้มลุกที่พบได้เกือบทุก ๆ พื้นที่รกร้างในประเทศไทยไปแล้ว ก่อนที่จะเล่าถึงสาเหตุที่จะต้องกำจัดสาบเสือออกจากทุ่งหญ้าบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ขอเท้าความไปถึง การเกิดขึ้นของทุ่งหญ้าบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เสียก่อน เพราะมีเหตุผลสอดคล้องกันอย่างยิ่ง

แท้จริงแล้วทุ่งหญ้าบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ไม่ใช่ทุ่งหญ้าธรรมชาติ แต่คงอยู่ได้ด้วยหลักการจัดการทุ่งหญ้า (Range management) ตามหลักการจัดการสัตว์ป่า หลังการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในปี พ.ศ. 2505 ประชาชนที่เข้าไปถางป่าทำไร่บนเขาใหญ่ได้ถูกอพยพออกไป เหลือเป็นพื้นที่รกร้าง/ทุ่งหญ้าที่รอการฟื้นคืนสภาพป่าตามธรรมชาติ ซึ่งก็คือบริเวณหนองผักชีในปัจจุบัน หลังจากนั้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่กลาย ได้รับความสนใจจากการท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)ได้ร่วมพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวรวมไปถึงการสร้างสนามกอล์ฟบนเขาใหญ่ จนทำให้เกิดความขัดแย้งในการจัดการพื้นที่กับธรรมชาติและการท่องเที่ยว ท้ายที่สุด ในปี พ.ศ. 2535 จึงมีมติคณะรัฐมนตรีเพื่อปิดสนามกอล์ฟและคืนพื้นที่ให้สัตว์ป่าอีกครั้ง พื้นที่ป่าธรรมชาติที่ถูกถางฟันจนกลายเป็นทุ่งหญ้า ผนวกกับศาสตร์ด้านการจัดการสัตว์ป่าด้วยการชิงเผา (Prescribed burning) จึงทำให้ยังคงรักษาทุ่งหญ้าสองข้างถนนให้นักท่องเที่ยวได้ชมสัตว์ป่าได้ใกล้ชิดและง่ายยิ่งขึ้นsabsua-01

 

ภาพ: http://frynn.com/%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B8%AD/

 

ด้วยเหตุที่ทุ่งหญ้าบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่คงอยู่ได้ด้วยการจัดการเพื่อยังประโยชน์ให้สัตว์กีบ กินเป็นอาหารโดยเฉพาะ เก้งและกวาง นี้เอง จึงดึงดูดให้สัตว์ผู้ล่าอย่างหมาจิ้งจอกและหมาในออกมาใช้ทุ่งหญ้าด้วย ดังนั้นสิ่งที่นักจัดการสัตว์ป่าต้องการคือ “พืชอาหาร” สำหรับสัตว์ป่า แต่งานวิจัยพบว่า เก้งและกวางไม่กินสาบเสือเป็นอาหาร นอกจากนี้สาบเสือ ซึ่งเป็นไม้ล้มลุกที่เป็นพุ่มหนา ทำให้พืชชนิดอื่น ๆ ไม่สามารถขึ้นได้ อีกทั้งยังมีคุณลักษณะเป็น “อัลลีโอพาที (Allelopathy)” คือ สามารถสร้างสารเคมีและปล่อยสู่สภาพแวดล้อม ทำให้พืชที่ขึ้นข้างเคียงไม่สามารถเจริญเติบโตได้ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวล ทำให้เราเลือกที่จะกำจัดสาบเสือออกจากทุ่งหญ้าบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และนี่ก็คือเหตุผลที่เราเลือกกำจัดเฉพาะสาบเสือ แต่ไม่กำจัดหญ้าคาและหญ้าขจรจบแม้ว่าพืชทั้งสองชนิดนี้จะเป็นพืชต่างถิ่นรุกรานเช่นกัน และหญ้าคาเอง ก็มีคุณลักษณะเป็นอัลลีโอพาทีเช่นเดียวกับสาบเสือ แต่เราก็ยังคงปล่อยให้ขึ้นอยู่บนทุ่งหญ้าบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้ต่อไปเพราะหญ้าทั้งสองชนิดเป็นพืชอาหารของเก้งและกวางบนเขาใหญ่ได้นั้นเอง

อีกคำถามที่เกิดขึ้นคือ แล้วสาบเสือกระจายมาถึงอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้อย่างไร มันคงไม่สามารถแพร่กระจายโดยน้ำอับเฉาเรือได้ สาบเสือและพืชรุกรานหลายชนิดสามารถแพร่กระจายได้หลายวิธีและง่ายมากจนเราอาจจะคาดไม่ถึงกล่าวคือ เมล็ดสาบเสืออาจจะติดมากับรองเท้าและเสื้อผ้าและดินที่ล้อรถของคนที่เข้ามาในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และเมื่อสาบเสือได้แพร่กระจายมาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแล้ว เมล็ดของมันสามารถแพร่กระจายสู่พื้นที่อื่น ๆ ได้โดยลอยไปกับลม น้ำ หรือแม้กระทั่งติดไปกับสัตว์ป่า และเสื้อผ้าของนักท่องเที่ยว

แล้วถ้าเป็นแบบนั้นจะจัดการสาบเสืออย่างไรดี ในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ให้ความสำคัญกับการป้องกันแพร่กระจายของพืชต่างถิ่นรุกรานพอ ๆ กับการกำจัด โดยวิธีการจัดการที่สำคัญ คือ กำหนดให้ผู้ที่จะเดินทางเข้าพื้นที่อนุรักษ์กำจัดเศษดินออกจากรองเท้าและล้อรถ ไปพร้อม ๆ กับการระดมอาสามัครมาถอนพืชรุกรานออกจากพื้นที่ธรรมชาติ รวมไปถึงการใช้สารเคมีร่วมด้วย และการควบคุมโดยชีววิธี อย่างไรก็ดี การจัดการโดยให้ผู้ที่เข้ามาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกำจัดเศษดินออกจากล้อรถและรองเท้าในบริบทของสังคมไทยเป็นเรื่องยาก และแม้ว่าการใช้สารเคมีกำจัดจะเป็นวิธีที่ให้ผลสัมฤทธิ์ดีที่สุด แต่อาจจะไม่เหมาะสมในแง่ที่มีค่าใช้จ่ายสูง และผลกระทบที่อาจจะตามมาในการนำไปใช้ในเขตอุทยานแห่งชาติ ดังนั้นการถอนสาบเสือ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการออกดอกเตรียมผลิตเมล็ด จึงน่าจะเป็นกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติรูปแบบใหม่นอกเหนือไปจากการสร้างโป่ง การสร้างฝายอันเป็นที่นิยมในหมู่อาสาสมัครด้านการอนุรักษ์ และควรมีการขยายออกไปในพื้นที่อนุรักษ์อื่น ๆ ด้วย

บทความโดย : อาจารย์แตน Jiraporn Tan Teampanpong

ภาพ : farmthailand.com , frynn.com

Comments are closed.