fbpx
Comments are off for this post

แม่แปรก คุณยายผู้นำฝูงของเหล่าช้าง

ช้างแม่แปรก [ปะ-แหรก] หลายท่านอาจสงสัย และได้ยินผ่านหูผ่านตามาบ้างกับคำนี้ บางท่านอธิบายว่าเป็นช้างที่เก่งที่สุดในฝูง ซึ่งไม่ตรงกับพฤติกรรมเขาเสียทีเดียว เมื่อเปิดดูพจนานุกรมไทย ฉบับ อ.เปลื้อง ณ นคร คำว่า แปรก [-ปะ-แหรก] คือหญิงสาวแก่ผู้เป็นหัวหน้าของหญิงสาวทั้งปวง ซึ่งก็เข้าเค้าเมื่อนำมาใช้กับช้าง

ที่จริงแล้ว ช้างแม่แปรก (Matriarch) เป็นช้างเพศเมียอาวุโสที่มีบทบาทสำคัญในการกำกับการเดินทางหากินของฝูงช้าง และปกป้องสมาชิกจากผู้ล่าร่วมกับตัวอื่นๆภายในฝูง โดยดูแลหน่วยครอบครัว (Family unit) เล็กสุดที่ประมาณ 5-10 ตัว หรือมากกว่านี้ตามปัจจัยทางนิเวศและประสบการณ์ของแม่แปรก

ช้างกุยบุรี

ช้างแม่แปรกจะมีอายุมากที่สุดในฝูง และมักเป็นตัวที่มีขนาดใหญ่ที่สุด โดยมีรายงานการศึกษาทั้งในช้างเอเชียและแอฟริกาว่าช้างแม่แปรก มีตั้งแต่อายุน้อยกว่า 40 ปี จนถึงอายุ 70 ปี ซึ่งถ้าเทียบเคียงก็เหมือนในคนเรา ผู้มีประสบการณ์มากกว่าก็มักจะได้เป็นผู้นำ เพราะมากด้วยความจำเรื่องเส้นทางในป่าและแหล่งอาหาร

แม่แปรกหรือคุณยายของเหล่าฝูงช้าง จะคอยดูแลเรื่องใหญ่เช่นการเดินทางหาแหล่งอาหาร ไปจนกระทั่งให้เหล่าแม่ของลูกช้างคอยดูแลลูกตัวเอง เช่น หากลูกช้างแตกแถวเดินไปไกล หรือมาอยู่กับยายนานๆ ก็จะผลักหรือดันให้ลูกช้างไปอยู่กับแม่ช้าง ส่วนลูกๆของแม่แปรกก็จะเรียนรู้สะสมประสบการณ์ทั้งความจำเรื่องเส้นทาง แหล่งอาหาร และการดูแลฝูง จนเมื่อแม่แปรกสิ้นอายุขัย ตัวอาวุโสสูงสุดจึงขึ้นเป็นผู้นำ แต่อีกกรณี ลูกของแม่แปรกบางตัวก็เลือกที่จะแยกฝูงออกมา แล้วพาลูกๆเริ่มต้นสร้างครอบครัวตนเอง ด้วยเหตุผลหลักในเรื่องอาหารอันจำกัด ซึ่งบ่อยครั้งฝูงของลูกแม่แปรก ก็จะกลับมารวมญาติเป็นครั้งคราว

ช้างกุยบุรี

แม่แปรกที่อาวุโสกว่า จะมีพฤติกรรมระวังภัยที่เข้มข้นมากกว่าแม่แปรกอายุน้อย เช่น นิ่งฟังเสียงผู้ล่านานกว่า หรือเปลี่ยนรูปแบบฝูงเมื่อถูกคุกคามอย่างรวดเร็ว โดยการให้ตัวอื่นๆเข้าโอบล้อมลูกช้าง ซึ่งตัวอาวุโสจะแสดงพฤติกรรมป้องกันได้รวดเร็วกว่าช้างแม่แปรกที่มีอายุน้อย

รายงานการศึกษาใหม่ๆบอกเราว่า แม่แปรกมีบุคลิกที่นิ่ง ไม่พยายามนำลูกฝูงด้วยความก้าวร้าว (Aggressive) แต่เข้าหาลูกฝูงด้วยความอ่อนโยน (Gentle) มีบุคลิกภาพที่นิ่งและสุขุมในการตัดสินใจแต่ละครั้ง หากใครเฝ้าสังเกตพฤติกรรมช้างป่า จะเห็นว่าตัวนำฝูงจะหยุดนิ่งอยู่นานกว่าจะออกเดินแต่ละครั้ง เป็นตัวเดินนำหน้า ชูงวงดมกลิ่นตรวจสอบก่อนออกที่โล่ง ใช้งวงดึงลูกช้างแสนซนที่แตกแถวกลับเข้าฝูง เมื่อคนเราเข้าใกล้คล้ายการคุกคาม ก็จ้องมองเราอยู่นาน นิ่งเฝ้ามองเราอยู่อย่างนั้น จนกว่าลูกฝูงตัวอื่นๆจะเดินผ่านพ้นไป

ดูแล้วก็คล้ายกับคนเราจริงๆ เพียงแต่ในโลกของช้าง เพศเมียและความอาวุโส เป็นตัวตัดสินผู้นำ

ภาพ : ยศพล ณ นคร

อ้างอิง

Lee, P. C. and Moss, C. 2012. Wild female African elephants (Loxodonta africana) exhibit personality traits of leadership and social integration. Journal of Camparative Psychology. 126 (3), 224-232.

McComb, K., Shannon, G., Durant, S.M., Sayialel, K., Slotow, R., Poole, J. and Moss, C. 2011. Leadership in elephants: the adaptive value of age. Proceedings of the Royal Society B. 278, 3270–3276.

Sukumar, R. 2003. The Living Elephants: Evolution Ecology, Behavior and Conservation. New York: Oxford University Press.

Comments are closed.