fbpx
Comments are off for this post

เสือโคร่ง ศักดิ์ศรีแห่งผืนป่า คุณค่าแห่งพงไพร

เรื่อง: พิเชฐ นุ่นโต

ภาพ: สมิท สุติบุตร

เสือโคร่ง (Panthera tigris) จัดเป็นชนิดพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์ Felidae (ฟิลิดี-วงศ์เสือและแมว) เสือโคร่งตัวเต็มวัยมีน้ำหนักประมาณ 100-260 กิโลกรัม ความยาวช่วงตัว 2.2-2.5 เมตร ด้วยรูปร่างที่มีขนาดใหญ่ เล็บพับเก็บได้ยามเดินไร้สุ้มเสียง เขี้ยวและขากรรไกรทรงพลังที่ถูกคัดสรรด้วยธรรมชาติ ประสาทสัมผัสเสียงและสายตาที่เฉียบคม ทำให้เสือโคร่งเป็นสัตว์ผู้ล่าลำดับสูงสุด (Apex predator) มีศักยภาพในการล่าเหยื่อที่มีขนาดใหญ่และหลากหลาย

เสือโคร่งล่าได้ตั้งแต่สัตว์ขนาดเล็กอย่าง เม่น ลิ่น ลิงและชะนี  ไปจนถึงสัตว์กินพืชขนาดใหญ่ เช่น หมูป่า เก้ง กวางป่า วัวแดง กระทิง และลูกช้างป่า ฯ อัตราการสังหารเหยื่อของเสือโคร่งอยู่ที่ราว 50-60 ตัวต่อปี หรือ ในหนึ่งเดือนเสือโคร่งล่าเหยื่อได้ 4-5 ตัว เมื่อบวกกับอาณาเขตหากิน 200-300 ตารางกิโลเมตรต่อตัว และเดินทางหาเหยื่อได้ไกลประมาณ 15-20 กิโลเมตรต่อวัน* เสือโคร่งจึงเป็นผู้ล่าสำคัญในระบบนิเวศที่ช่วยควบคุมปริมาณสัตว์กินพืช คัดสรรประชากรสัตว์ป่าที่แข็งแรงให้อยู่รอดและสืบพันธุ์ สมดุลสายใยอาหารแห่งพงไพรมีเสือโคร่งถักทอผ่านการล่า

กวางป่า บริเวณลำธารหน้าบ้านหัวหน้าสืบ นาคะเสถียร ที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ( ภาพ : กลุ่มใบไม้ )

ระบบนิเวศที่สมบูรณ์ มีป่า มีน้ำ แร่ธาตุ ก่อเกิดเป็นพรรณไม้ใบหญ้าที่สมบูรณ์ ถูกควบคุม คัดเลือกผ่านสัตว์กินพืช เช่น เก้ง กวาง กระทิง วัวแดง สุดท้ายปลายห่วงโซ่อาหาร เสือช่วยควบคุมปริมาณสัตว์กินพืช เป็นสายใยเรียงร้อยจากป่าสู่สัตว์กินพืช ตรงสู่ผู้ล่า สมดุลนับล้านปีของป่า น้ำ อากาศ ที่เราใช้จึงไม่ใช่ของฟรี แต่มีองคาพยพสัตว์ป่าช่วยดูแล และเสือโคร่งเป็นตัวแปรสำคัญยิ่งในสมการ นักวิทยาศาสตร์มีข้อมูลอันจำกัดในการอธิบายผลกระทบการลดลงและหายไปของเสือโคร่งในระบบนิเวศ แต่เมื่อมองผ่านผู้ล่าอันดับสูงสุดชนิดอื่นที่กำลังลดลงทั่วโลก และเริ่มหายไปในบางพื้นที่ เช่น หมาป่า เสือดาว เสือจากัวร์ สิงโต หมี  ฯลฯ  นักวิทยาศาสตร์เห็นปรากฏการณ์ร่วมเป็นระลอกคลื่นกระทบไปตามสายใยอาหาร เช่น กวางป่าหางขาว (Odocoileus virginianus) ของอเมริกา มีประชากรมากขึ้นในภาวะไร้ผู้ล่า ส่งผลร่วมกับปัจจัยอื่นๆทำให้สังคมพืชฟื้นตัวหรือเติบโตช้า ความหลากหลายของพืชลดลง กวางออกไปกินผลผลิตทางการเกษตรเสียหายกว่า 248 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ชนกวางประมาณ 150 ครั้งต่อปี  

ส่วนในแอฟริกา ลิงบาบูนโอลีฟ (Papio anubis) เพิ่มจำนวนขึ้นเมื่อผู้ล่าลำดับสูงสุดลดลง ลิงบาบูนขยายพื้นที่ออกไปกินพืชผลการเกษตรของชาวบ้าน เด็กในชุมชนต้องเสียเวลามาช่วยเฝ้าพืชผล จึงกระทบกับเวลาเรียนของเด็กๆ อีกทั้งปรสิตในลำไส้ลิงบาบูนก็พบมากขึ้นในพื้นที่ ผลของการไม่ได้ดูแลอนุรักษ์สัตว์ผู้ล่า เป็นราคาที่เราต้องจ่ายในหลากหลายมิติทั้งปัจจุบันหรือแม้กระทั่งในอนาคต การอนุรักษ์เสือหรือผู้ล่า จึงไม่ใช่แค่รักษาระบบธรรมชาติให้สมบูรณ์และสมดุล แต่ยังหมายถึงเป็นการดูแลเศรษฐกิจ สุขภาพ การศึกษา และชีวิตที่ดีของมนุษย์ที่มีธรรมชาติเป็นรากฐาน

ประเทศแถบเอเชีย 13 ประเทศที่มีเสือโคร่งเหลืออยู่ ต่างตื่นตัวในการอนุรักษ์เสือโคร่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากเสือโคร่งมีภาวะลดลงอย่างมาก จากตัวเลข 100,000 ตัวเมื่อ 100 ปีก่อน ปัจจุบันเหลือเพียง 3,200 ตัว เสือโคร่ง 9 ชนิดย่อย…สูญพันธุ์…เหลือ 6 ชนิดย่อย สาเหตุหลัก คือ การล่าเหยื่อของเสือโคร่ง ล่าเสือโคร่งเพื่อใช้เป็นเครื่องประดับและยาอายุวัฒนะ และการสูญเสียพื้นที่ป่าบ้านของเสือ องค์กรรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมให้ความสำคัญในการอนุรักษ์เสือโคร่ง เนื่องด้วยเสือโคร่งอาศัยอยู่ในระบบนิเวศที่สมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง (Biodiversity hotspots) การพัฒนาที่สามารถรักษาเสือโคร่งไปพร้อมกันได้ จึงเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่สอดคล้องกับกระบวนทัศน์ใหม่ของการพัฒนาที่ยั่งยืน

เขานางรำ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ( ภาพ : กลุ่มใบไม้ )

แม้เสือโคร่งจะลดลงเป็นอย่างมาก แต่การอนุรักษ์เสือโคร่งยังคงมีประกายแห่งความหวัง เสือโคร่งเบงกอล (Panthera tigris tigris) ของอินเดียมีประชากรเพิ่มขึ้น 30% หลังอินเดียให้ความสำคัญกับการป้องกันการล่าเสือโคร่งและเหยื่อของเสือโคร่ง และเพิ่มการศึกษาวิจัยอย่างเข้มข้น เช่นเดียวกับประเทศไทย ด้วยความร่วมมืออย่างจริงจังของหลายภาคส่วน การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ และงานวิจัย ส่งผลให้เราทราบความหนาแน่นและปัจจัยที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของเสือโคร่งอินโดจีน (Panthera tigris corbetti) ที่มีอยู่ประมาณ 180-200 ตัวในประเทศไทย สัญญาณบวกเพิ่มเติมบ่งชี้ถึงการขยายตัวของประชากรเสือ เสือโคร่งเริ่มกระจายตัวออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี บ้านหลังใหญ่ของเสือโคร่ง ไปสู่บ้านหลังใหม่ผืนป่าแม่วงก์-คลองลาน จ.นครสวรรค์-กำแพงเพชร และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี เสือโคร่งเดินทางโยกย้ายไปพื้นที่ใหม่ๆ เพื่อหากิน สืบพันธุ์ และทำหน้าที่ผู้รักษาสมดุลสายใยอาหารในระบบนิเวศ อนาคตของสัตว์ผู้ล่าผู้น่าเกรงขามอาจขึ้นอยู่กับมนุษย์ ผู้ล่ายุคใหม่ที่ต้องเรียนรู้อยู่ร่วมกับสายพันธุ์อื่นบนโลกใบนี้

การอนุรักษ์เสือโคร่งจำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการองค์ความรู้ การทำงานอย่างมีส่วนร่วม และบุคลากรที่มีคุณภาพ การมีเสือโคร่งอยู่จึงเปรียบเสมือน “ศักดิ์ศรีของผืนป่า คุณค่าแห่งพงไพร” ที่เราทุกคนจะต้องช่วยกันปกป้องดูแลตราบชั่วลูกหลาน

*หมายเหตุ ขนาดตัว น้ำหนัก มีความแปรผันในแต่ละชนิดย่อย ส่วนขนาดพื้นที่อาศัย และระยะทางเคลื่อนที่ต่อวัน มีความแปรผันในแต่ละชนิดย่อย ความหนาแน่นของเหยื่อ การรบกวนของมนุษย์ และปัจจัยทางนิเวศ

อ้างอิง

Estes, J. A., Terborgh, J., Brashares, J. S., Power, M.E., Berger, J., Bond, W. J., Carpenter, S. R., Essington, T. E., Holt, R. D.,  Jackson, J. B. C., Marquis, R. J., Oksanen, L., Oksanen, T., Paine, R. T., Pikitch, E. K., Ripple, W. J., Sandin, S. A., Scheffer, M., Schoener, T. W., Shurin, J. B., Sinclair, A. R. E., Soulé, M. E., Virtanen, R. and Wardle, D. A. 2011. Trophic Downgrading of Planet Earth. Science. 333 (6040): 301-306 DOI: 10.1126/science.1205106.

Goodrich, J., Lynam, A., Miquelle, D., Wibisono, H., Kawanishi, K., Pattanavibool, A., Htun, S., Tempa, T., Karki, J., Jhala, Y. & Karanth, U. 2015.  Panthera tigris. The IUCN Red List of Threatened Species 2015: e.T15955A5065 9951. http://dx.doi. org/ 10.2305/ IUCN.UK.2015-2.RLTS.T15955A50659951.en. Access: 30 Dec. 2016.

Horsley, S. B., Stout, S. L., and DeCalesta, D. S. 2003. White-tailed deer impact on the vegetation dynamics of a northern hardwood forest. Ecological Applications, 13(1), 98-118.

Insurance Institute for Highway Safety. 2009. Deer-vehicle collisions: no easy solutions but some methods work or show promise. Advisory No. 31.

Karanth, K.U., Kumar, N.S., Nichols, J.D., Link, W.A. and Hines, J.E. 2004. Tigers and their prey: Predicting carnivore densities from prey abundance. Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America 101: 4854-4858

Miller, C. S., Hebblewhite, M., Petrunenko, Y. K. Seryodkin, I. V., Decesare, N. J., Goodrich, J. M. and Miquelle, D. G.  2013. Estimating Amur tiger (Panthera tigris altaica) kill rates and potential consumption rates using global positioning system collars. Journal of Mammalogy. 94: 845-855.

Prugh, L. R.Stoner C. J.Epps C .W.Bean W. T.Ripple W. J.Laliberte A. S., and Brashares J. S. 2009. The rise of mesopredator.  Bioscience. 59(9):779-791.

Simchareon, S.,  Pattanavibool, A., Karanth, K. U., Nichols, J. D. and Kumar, N. S.  2007. How many tigers (Panthera tigris) are there in Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuary, Thailand? An estimate using photographic capture-recapture sampling. Oryx. 41:1-7.

Tilson, R. and Nyhus, P. J., editors. 2010. Tiger of The World: The Science, Politics, and Conservation of Panthera tigris.  Academic Press. London: Elsevier.

Comments are closed.