fbpx
Comments are off for this post

ฤดูน้ำแดง รอยต่อชีวิตแห่งสายน้ำ

“ฤดูน้ำแดง รอยต่อชีวิตแห่งสายน้ำ”

บทความโดย : ดร. นณณ์ ผาณิตวงศ์

“น้ำแดง” ในที่นี่ไม่ใช่น้ำหวาน แต่เป็นน้ำฝนที่ชะเอาหน้าดินจากในป่าไหลลงมาตามแม่น้ำจนน้ำกลายเป็นสีขุ่นแดง เป็นความแตกต่างที่ชัดเจนเมื่อเทียบกับในฤดูแล้งที่น้ำจะค่อนข้างใส สิ่งที่มากับน้ำแดงคือแร่ธาตุต่างๆ ออกซิเจนที่มีมากขึ้นจากการไหลที่แรงขึ้น อุณหภูมิน้ำที่ต่ำลง ที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้เหล่าปลาต่างๆเริ่มออกเดินทาง เพราะมั่นใจว่าฤดูฝนได้มาถึงแล้ว

ฤดูน้ำแดง อนุรักษ์แม่ปลา

อนุรักษ์แม่ปลา

ปลาที่เดินทางในฤดูนี้พวกปลาเล็กจะว่ายทวนน้ำขึ้นไปเป็นฝูงๆ ส่วนใหญ่เป็นปลาพ่อแม่พันธุ์ ฝนแรกๆ จะเริ่มด้วยกลุ่มปลาขนาดเล็ก พวกปลาซิว ปลาสร้อย จากนั้นเหล่าปลาใหญ่ ปลาล่าเหยื่อ ก็จะอพยพตามเหล่าปลาเล็กขึ้นไป

ทำไมปลาถึงวางไข่ในฤดูน้ำแดง ?

  • ในฤดูน้ำแดง น้ำจะไหลแรง ทำให้ปลามั่นใจเลยว่าแหล่งน้ำไหนๆ ก็มีน้ำแล้ว ลูกออกมามีน้ำอยู่แน่ๆ
  • กระแสน้ำที่ไหลแรง จะช่วยเพิ่มออกซิเจนในน้ำ ซึ่งช่วยให้ไข่ปลาฟักได้ดี
  • น้ำที่ไหลเยอะๆ พอถึงที่ราบจะเอ่อท่วมเข้าไปในป่าและทุ่งริมน้ำ พัดพาเอาดินตะกอนมาเป็นปุ๋ย รวมถึงพัดพาเอาลูกปลาเข้าไปอาศัยหากินอยู่ในทุ่งน้ำท่วม
  • น้ำขุ่นๆ ช่วยพลางตัวให้ไข่และลูกปลาสามารถไหลไปตามน้ำได้อย่างปลอดภัยจากผู้ล่ามากขึ้น

ทำไมต้องไปเป็นฝูง?

ปลาเล็กจะอพยพกันเป็นฝูงเพราะรู้สึกถึงความปลอดภัยที่มากกว่า การมีตามีประสาทสัมผัสจำนวนมากทำให้ช่วยกันสอดส่องดูแลกันและกันในช่วงการเดินทางไกล

ยังไงมีเพื่อนก็ดีกว่าไปตัวเดียวแน่ นอกจากนั้นโอกาสที่จะเจอกับเหล่าผู้ล่ามากมายพอที่จะกินปลาเล็กมีไปจนหมดทั้งฝูงก็น้อยมากๆ ยังไงก็ต้องมีรอดไปผสมพันธุ์แน่ๆ (Predator satiation strategy) และวิธีเดินทางเป็นฝูงนี้อาจจะปลอดภัยจากผู้ล่าใต้น้ำ แต่!!! การไปเป็นฝูงเช่นนี้ ถ้าเจอคนไล่จับ ก็สามารถจับหมดไปทั้งฝูงได้ง่ายๆเหมือนกัน (เคยเห็นชาวบ้านทอดแหจับปลาในฤดูน้ำแดงที่เขื่อนเขาแหลม ทอดแหทีเดียวยกแหแทบไม่ขึ้น)

ปลาเล็กเหล่านี้อพยพทวนน้ำไปทำไม?

อยากให้นึกภาพสมมุติว่า ถิ่นอาศัยที่เหมาะสมของปลา A ป่าบุ่งป่าทามและทุ่งน้ำท่วมอันสมบูรณ์อยู่ที่ตำแหน่ง (ค) ไข่ปลา A ใช้เวลา 2 วันในการฟักเป็นตัว และใช้เวลา 3 วัน จึงพอจะเริ่มว่ายน้ำได้บ้าง ดังนั้น ถ้าพ่อแม่ปลาอยากให้ลูกได้มาอาศัยอยู่ตรงนี้ ก็ต้องคำนวนแล้วว่าชั้นจะต้องว่ายทวนน้ำให้ไกลออกไปเผื่อเวลาสำหรับให้ลูกไหลตามกระแสน้ำมาอีก 5 วัน พอมาถึงจุด (ค) ลูกชั้นก็จะได้ว่ายเข้ามาอาศัยอยู่ตรงนี้พอดี๊พอดี พ่อแม่ปลาก็ต้องกะๆเอา แล้วว่ายไปที่จุด (ก) เพื่อให้ลูกไหลกลับมาอยู่ที่จุด (ค) พอดี

(ก)——–>>>——…——-(ข)——–,,——>>>——(ค)———————(ง)

จุดวางไข่                            เขื่อน                             แหล่งอาศัย               แม่น้ำลึกกว้าง

มาถึงพวกปลาใหญ่ๆบ้าง

พวกปลาใหญ่จะอพยพตามเหล่าปลาเล็กขึ้นไป ปลากลุ่มนี้ยกตัวอย่าง เช่น ปลาเค้า ปลากด ปลาเนื้ออ่อน พวกนี้ไปถึงก็สบายสิครับ ไล่กินปลาเล็กที่มารวมฝูงกันเพื่อผสมพันธุ์ แล้วจะไข่หลังจากปลาเล็กสักหน่อย ลูกปลาล่าเหยื่อบางชนิดอาจจะไหลตามน้ำไปไล่กินพวกลูกปลาเล็กต่อ หรือบางชนิดอาจจะอาศัยหากินอยู่ในบริเวณที่ฟักแล้วจึงเริ่มอพยพกลับลงด้านล่างในฤดูแล้งเมื่อเริ่มโตขึ้น

เขื่อนก่อให้เกิดปัญหาอะไร?

ลักษณะการสืบพันธุ์แบบที่ต้องว่ายทวนน้ำนี้ เป็นวิธีที่ปลาส่วนใหญ่ในแหล่งน้ำไทยใช้ ดังนั้นลองนึกภาพ สมมุติว่ามีใครไปสร้างเขื่อนกั้นอยู่ที่จุด (ข) ซึ่งอยู่ระหว่างจุด (ก) และ (ค) ขาขึ้นที่พ่อแม่ปลาจะว่ายทวนน้ำขึ้นไป ก็จะไปติดอยู่ที่ใต้เขื่อน ขึ้นไม่ได้ และต้องวางไข่กันตรงนั้น ลูกปลาแทนที่จะได้ไหลไปอยู่ที่จุด (ค) ก็อาจจะไหลเลยไปจุด (ง) ที่มีความเหมาะสมน้อยกว่าก็ได้ หรือสมมุติว่าพ่อแม่ปลาเก่งมาก หาวิธีข้ามเขื่อนไปวางไข่ได้สำเร็จที่จุด (ก) ไข่ไหลลงมาแล้ว 2 วัน พอวันที่ 3 ฟักเป็นตัว แต่ปรากฏว่าไหลมาถึงจุดเหนือเขื่อนน้ำขังนิ่ง ไข่ก็ค่อยๆจมลงสู่เบื้องล่างอันมืดมิดของเขื่อนลูกปลาอาจจะไม่ฟักหรือฟักแล้วก็ตายอยู่ในน้ำลึกๆ ไม่มีโอกาสได้รอดชีวิตไปอีก หรือถ้าโชคดีไหลมาถึงเขื่อน การจะรอดผ่านกังหันปั่นไฟไปได้ก็คงจะต้องอาศัยปาฏิหารอย่างมาก สำหรับเหล่าลูกปลาน้อยๆพวกนี้

หรือถึงแม้ว่าบางชนิดอาจจะไม่ต้องอพยพข้ามแนวเขื่อน แต่การกักเก็บและปล่อยน้ำของเขื่อนที่ไม่เป็นเวลา ก็ทำให้การสืบพันธุ์มีปัญหาเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นกลุ่มปลากด (ปลาเนื้อรสชาติดีที่นิยมรับประทานกันมาก) ปลากลุ่มนี้ไข่จะมีเมือกเหนียวๆเกาะติดกับวัสดุใต้น้ำ ไข่อยู่กับที่ให้น้ำไหลผ่าน (มีรายงานว่าพ่อแม่อาจจะเฝ้าไข่และลูกปลาอยู่ด้วย) ถ้าหากน้ำที่ไหลผ่านไม่แรงพอ ไข่ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ไข่ก็อาจจะไม่ฟักหรืออาจจะฟักออกมาน้อยกว่าที่ควรจะเป็นก็ได้

หรือถ้าเขื่อนกักน้ำในฤดูน้ำหลากไว้ จนน้ำไม่ท่วมทุ่งพวกลูกปลาก็ต้องอาศัยอยู่แม่น้ำสายหลักที่ไม่มีอาหารและที่หลบภัย โอกาสรอดก็น้อยลงไปเยอะ  น้ำไม่ท่วมทุ่งยังส่งผลต่อปลาอีกกลุ่มที่สืบพันธุ์และเลี้ยงดูตัวอ่อนในน้ำทุ่ง เช่น ปลาดุก ปลาช่อน ปลาชะโด ปลาสลิด ปลาหมอตะกรับ ที่จะไม่อพยพทวนน้ำไปไกลๆแต่รอให้น้ำท่วมทุ่งในบริเวณถิ่นอาศัยแล้วตามน้ำเข้าไป  (ยกตัวอย่างทุ่งน้ำท่วมลุ่มแม่น้ำสงคราม หรืออย่างทะเลสาปเขมรที่จะขยายขนาดขึ้น 3 เท่าในฤดูน้ำหลาก)

ในทุ่งน้ำท่วม ในป่าริมน้ำ มีอะไรดี?

ผู้ผลิตอาหารเริ่มต้นของโลกคือพืช ปลาไม่สามารถผลิตอาหารเองได้ ในแม่น้ำลำธารจริงๆแล้วมีพืชขึ้นอยู่ไม่มากนัก พืชบนบกมีมากกว่าเยอะเลย ดังนั้นเวลาน้ำท่วมบกปลาจึงชอบมาก เริ่มตั้งแต่

  • พวกปลาพ่อแม่พันธุ์ที่อพยพเข้ามาหากิน น้ำมาปลากินมด แมลงต่างๆที่หนีน้ำไม่ทัน กินใบพืช กินผลไม้ กินไส้เดือนจมน้ำ กินตัวอะไรต่อมิอะไรที่จมน้ำ
  • พอน้ำท่วมไปสักพัก ต้นไม้เริ่มตาย เริ่มเน่ามีแบคทีเรียมากิน ก็มีสิ่งมีชีวิตที่ใหญ่กว่าแบคทีเรียมากิน แล้วลูกปลาก็มากินตัวที่ว่านี่อีกที
  • หรือต้นไม้ที่เน่าเสียกลายเป็นปุ๋ย รวมกับปุ๋ยในดินและที่น้ำพัดมา ทำให้แพลงตอนพืชโต เป็นอาหารลูกปลากลุ่มหนึ่ง สัตว์เล็กๆอย่างไรแดง ก็มากินแพลงตอนพืช แล้วลูกปลาก็จะกินไรแดงอีกที
  • ในทุ่งน้ำท่วมมีที่หลบภัยให้ลูกปลาเยอะแยะ น้ำก็ไม่ไหลแรงจนเกินไป น่าอยู่มาก

ทำไมจึงควรงดจับปลาในฤดูน้ำแดง 

  • เป็นช่วงที่ปลารวมตัวกันอพยพขึ้นไปวางไข่ การจับปลาในช่วงนี้สามารถจับได้ง่ายเนื่องจากปลารวมฝูง ทำให้เห็นตัวได้ง่าย จับได้ทีละมากๆ หมดดิ ไม่แฟร์เลย
  • ปลาที่จับเป็นปลาพ่อแม่พันธุ์ที่กำลังจะขึ้นไปวางไข่ เป็นการตัดตอนการสืบพันธุ์ของปลา

ขอขอบคุณ ดร.กฤษดา ดีอินทร์ สำหรับข้อมูลบางส่วน  

Comments are closed.