fbpx
Comments are off for this post

นกเงือก คือ นักปลูกป่า

เรื่อง : ดร. จิราภรณ์ เทียมพันธ์พงศ์

ภาพ : กุลพัฒน์ ศรลัมพ์

“นกเงือก คือ นักปลูกป่า”

“อนุรักษ์นกเงือก = อนุรักษ์ป่า”

เรามักจะได้ยินคนพูดเสมอ ๆ ว่านกเงือก นั้นมีความสำคัญนะ มันบอกได้ว่าป่านี้ยังอุดมสมบูรณ์อยู่ (Indicator species) คำกล่าวนี้จริงหรือไม่นะ นักวิจัยจากโครงการศึกษาชีววิทยาและนิเวศวิทยาของนกเงือกประเมินว่า เราจะใช้นกเงือกบอกได้ว่าป่านั้นสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อ ป่านั้นเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรนกเงือกต่ำสุด (viable population) ไม่น้อยกว่า 500 ตัว และการที่ป่าจะสามารถรองรับประชากรนกเงือกขนาดนี้ได้ แสดงว่าต้องมีต้นไม้ใหญ่ที่มีโพรงไม้ มากพอที่จะให้นกเงือกทำรังได้อย่างเพียงพอ อีกทั้งมีความหลากหลายและปริมาณของชนิดพันธุ์พืชอาหารของนกเงือกที่เพียงพอตลอดทั้งรอบปี

ป่าละอู อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ( ภาพ : กลุ่มใบไม้ )

และที่สำคัญไปกว่านั้น จะมีใครรู้หรือไม่ว่า เราจัดนกเงือกเป็น Keystone species  ด้วย ซึ่งหมายถึงชนิดพันธุ์หลักที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศป่าไม้ อย่างไรหละหรือ ก็นกเงือกกินลูกไม้ของต้นไม้ในสังคมป่าเขตร้อนมากกว่า 100 ชนิด ลองคิดดูว่า โดยทั่วไปนกเงือกสามารถมีอายุยืนยาวได้ถึง 30 ปี และแต่ละตัวสามารถช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้มากกว่า 100 เมล็ดต่อสัปดาห์ หากไม้เหล่านี้สามารถเจริญเป็นไม้ใหญ่ได้เพียง 5 เปอร์เซ็นต์ หนึ่งชีวิตของนกเงือกจะสามารถปลูกไม้สำคัญของป่าได้ถึง 500,000 ต้น ถ้าป่าไหนมีนกเงือกอยู่ถึง 500 ตัว ป่าเหล่านั้นจะไม่เป็นป่าที่สมบูรณ์ได้อย่างไร แล้วลองคิดดูอีกว่าการหายไปของนกเงือก จะส่งผลต่อการกระจายพันธุ์ของไม้ และพลวัตรการดำรงชีวิตของพืชมากมายเพียงใด

( ภาพ unsplash.com )

นอกจากนี้พันธุ์ไม้ป่าแล้ว นกเงือกยังกินสัตว์ขนาดเล็ก ตั้งแต่สัตว์มีข้อปล้องพวกแมลง กิ้งกือ ตะขาบ ไปจนถึง กบ งู ลูกนก ไข่นก นก หนู และกระรอกบินเป็นอาหาร ไม่ต่ำกว่า 10 ชนิด นกเงือกจึงทำหน้าที่ควบคุมประชากรสัตว์ขนาดเล็กในป่าอีกด้วย เพราะระบบนิเวศป่าไม้ที่มีเรือนยอดปกคลุมหนาแน่นนั้น จะมีสัตว์ผู้ล่าในกลุ่มเหยี่ยวน้อยกว่าพื้นที่โล่ง นกเงือกจึงทำหน้าที่ในระบบนิเวศแทนสัตว์ผู้ล่าเหล่านั้น และเมื่อมีสัตว์ขนาดเล็กเหล่านั้นมากเกินไป เช่น อาจจะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศได้ เช่น หนูที่เป็นนักล่าเมล็ดไม้ตัวฉกาจ หากมีจำนวนมาก จะทำให้มีกล้าไม้ที่รอดและเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ต่อไปมีน้อยลง นั้นหมายถึงว่า การหายไปของนกเงือก ส่งผลโดยตรงต่อความผันแปรของประชากรสัตว์ขนาดเล็กในป่าที่อาจส่งผลต่อการสืบต่อพันธุ์ของต้นไม้  ส่งผลต่อพลวัตรและความยืดหยุ่นของระบบนิเวศป่าไม้ และหากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจจะส่งผลให้นิเวศบริการ (Ecological service) ของระบบนิเวศป่าไม้ที่ให้กับมนุษย์ฟรี ๆ ก็จะค่อย ๆ เสื่อมถอย ด้อยคุณภาพลงไปด้วยนั้นเอง

Comments are closed.