fbpx
Comments are off for this post

ทำไมกลุ่มใบไม้ต้องรณรงค์ไม่ให้นักท่องเที่ยวให้อาหารสัตว์ป่า?

ภาพนักท่องเที่ยวให้อาหารสัตว์ป่า โดยเฉพาะลิง ดูจะเป็นภาพชินตาที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในประเทศไทย เช่น เขาวัง จังหวัดเพชรบุรี พระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี รวมทั้งในอุทยานแห่งชาติทางทะเล เช่น หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี และในสถานที่ยอดนิยมอย่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

ภาพเหล่านี้ดูจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรในสังคมไทย เพราะคนไทยส่วนมากมีความเมตตาต่อสรรพสัตว์อยู่เป็นปกติ ดังที่เราจะเห็นประชาชนไปทำบุญที่วัดโดยการปล่อยนก ปล่อยปลา และสัตว์ต่างๆอยู่เป็นประจำ อีกทั้งการได้ใกล้ชิดสัตว์ป่าก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างประสบการณ์และความประทับใจต่อธรรมชาติ อันจะนำไปสู่การสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ด้วย

 

stopfeedingwildlife-khaoyai

ไม่ให้อาหารสัตว์บนเขาใหญ่

แต่หากภาพเหล่านี้เกิดขึ้นผิดที่ผิดทาง เช่นในพื้นที่ธรรมชาติและพื้นที่อนุรักษ์ โดยผู้ให้ไม่ได้รู้ถึงผลกระทบต่อเนื่องที่ตามมา ดังที่เราจะเห็นได้จากภาพกวางป่าที่หัวมีถุงพลาสติกคล้องอยู่ ภาพสัตว์ป่ามาคุ้ยหาอาหารตามถังขยะหรือนั่งริมถนนรอนักท่องเที่ยวให้อาหาร ภาพนักท่องเที่ยวจับปลาการ์ตูนในทะเลมาถ่ายรูปเหนือน้ำ และภาพลิงถูกรถชนตายริมถนนบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นต้น เจตนาบริสุทธิ์ของผู้ให้จะเหลือไว้เพียงบาปบริสุทธิ์เพียงเพราะความไม่เข้าใจเรื่องระบบนิเวศและพฤติกรรมสัตว์ป่า และกลายเป็นปัญหาน้ำผึ้งหยดเดียวให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ในหลายพื้นที่ซึ่งมีกำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอที่จะรองรับภารกิจมากมาย ตั้งแต่จัดการพื้นที่และถิ่นที่อยู่อาศัยสัตว์ป่า การลาดตระเวน การจัดการประชากรสัตว์ป่า การจัดการและอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว และการสื่อความหมายธรรมชาติ ต้องคอยตามแก้ไขปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ
เนื่องจากในประเทศไทย ไม่มีงานวิจัยหรือภาพข่าวเกี่ยวกับปัญหาจากการให้อาหารสัตว์ป่าในพื้นที่ธรรมชาติมากนัก เพราะดูเหมือนไม่ใช่ปัญหาใหญ่เมื่อเทียบกับปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า การล่าสัตว์และลักลอบหาของป่า เช่น ไม้กฤษณา ไม้พะยูง เป็นต้น จึงจะขอยกตัวอย่างปัญหาเป็นประจักษ์พยานในต่างประเทศมาเป็นกรณีศึกษากัน ซึ่งการให้อาหารสัตว์ป่าก่อให้เกิดปัญหาสืบเนื่อง 3 ประเด็นหลัก คือ

1) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและนิเวศวิทยาของสัตว์ป่า

2) ปัญหาสุขภาวะของสัตว์ป่า และ

3) ความเสี่ยงในการถ่ายทอดเชื้อโรคจากสัตว์ป่าสู่คนและคนไปยังสัตว์ป่า

ประเด็นแรก การให้อาหารสัตว์ป่า ทำให้สัตว์ป่าเปลี่ยนพฤติกรรมไม่หาอาหารในถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ จนค่อย ๆ สูญเสียทักษะการหาอาหารจากธรรมชาติ และจะเฝ้ารอแต่อาหารจากมนุษย์ เพราะสัตว์ป่าได้เรียนรู้ (Learned behavior) แล้วว่าพวกมันสามารถหาอาหารจากคนได้ จึงไม่กลัวคนและเริ่มเข้าหาคน (Habituation) แต่มันก็ยังมีสัญชาตญาณสัตว์ป่าที่พร้อมจะเป็นผู้ไล่ล่าหาอาหารดังที่หลายคนจะเห็นหรือได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับลิงเขาวัง จังหวัดเพชรบุรีหรือลิงที่พระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรีเข้าแย่งของจากมือของนักท่องเที่ยวเพราะคิดว่าเป็นอาหาร

 

ไม่ให้อาหารสัตว์ป่าเขาใหญ่

 

ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ก็เช่นกัน การที่นักท่องเที่ยวหลายกลุ่มสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นมาบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และให้อาหารแก่ลิงซ้ำ ๆ มาไม่ต่ำกว่า 10 ปี จนทำให้ลิงกังปรากฏตัวบนถนนมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เห็นผลเสียชัดเจน ทั้งการถูกรถชน การทำร้ายนักท่องเที่ยว หรือการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว แต่ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ลิงเหล่านี้มารอรับอาหารจากคน กลายเป็นวัฒนธรรมที่มีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น (Cultural transmission in animals) ทำให้ลิงวัยรุ่นที่เหล่านี้ได้เรียนรู้วิธีขออาหารจากคนและมีโอกาสสูงขึ้นจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว (Food aggression) และอาจทำอันตรายต่อมนุษย์เพื่อให้ได้มาซึ่งอาหารด้วยการขู่ กัด หรือข่วน เป็นต้น
ข้อเท็จจริงนี้ถูกนำเสนอไว้ในงานวิจัยหลายชิ้น ว่าการให้อาหารลิงเป็นตัวกระตุ้น (Stimulus) พฤติกรรมก้าวร้าวของลิงต่อนักท่องเที่ยวใน Mt. Huangshan และ Mt. Emei ประเทศจีน ที่ Sangeh Monkey Forest และ Padangtegal Monkey Forest ในบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย และใน Shou Shan Nature Park ประเทศไต้หวัน นอกจากนี้ยังพบว่าไม่เพียงแต่การให้อาหารลิงจะก่อให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวต่อคนเท่านั้น การที่นักท่องเที่ยวนิยมให้อาหารลูกลิงและลิงวัยรุ่น จะทำให้ลิงรุ่นเยาว์เหล่านี้ถูกคุกคามจากลิงที่มีสถานภาพทางสังคมในฝูงที่สูงกว่าอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับลิงญี่ปุ่น (Japanese Monkey) ในอุทยานแห่งชาติ Nikko ประเทศญี่ปุ่น พบว่าการให้อาหารลิงโดยนักท่องเที่ยวมีส่วนทำให้การปรากฏตัวของลิงในแหล่งท่องเที่ยวสูงขึ้น และน่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรลิงในฝูง และยังส่งผลต่อการเพิ่มอัตราการตายและย้ายออกของลิงวัยรุ่นในฝูงเพื่อออกไปหาอาหาร และหากบริเวณที่คนนิยมให้อาหารลิงอยู่ริมถนนด้วยแล้ว โอกาสที่ลิงจะถูกรถชน ก็มีสูงขึ้นเช่นกัน และภาพเหตุการณ์นี้ก็ได้เกิดขึ้นบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่แล้ว

nofeedingkhaoyai01

nofeedingkhaoyai02

อย่างไรก็ตามการยกเลิกการให้อาหารสัตว์ป่าทันทีทันใด(ในบางกรณี) ก็ส่งผลเสียกับสัตว์ป่าที่เคยชินกับการรอรับอาหารและคุ้นเคยกับคน(เช่นสัตว์ป่าในสวนสัตว์ หรือสัตว์ป่าในกรงเลี้ยงที่เตรียมปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ) กลายเป็นความเครียดและแสดงออกด้วยพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น เพราะอาหารที่เคยได้มีน้อยลงพร้อมกับความสามารถในการหาอาหารตามธรรมชาติที่ลดลงนั้นเอง และท้ายสุดแล้วสัตว์ป่าเหล่านั้นอาจจะไม่สามารถมีชีวิตรอดได้ในสภาพธรรมชาติ กลายเป็นภาระที่คนต้องช่วยดูแลไปตลอด ดังนั้นนักวิจัยจึงแนะนำวิธีการที่น่าจะลดพฤติกรรมก้าวร้าวของลิงที่อาจเป็นอันตรายแก่มนุษย์คือ การจำกัดการให้อาหาร โดยจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลและจัดการของนักวิชาการเท่านั้น ทั้งนี้การรณรงค์ “ไม่ให้อาหารสัตว์ป่า” ของกลุ่มใบไม้อย่างต่อเนื่องบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ก็สามารถตอบโจทย์การแก้ไขปัญหานี้ ในแง่การให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ และค่อย ๆ ลดจำนวนนักท่องเที่ยวที่ให้อาหารสัตว์ป่าลงจนนำไปสู่พฤติกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับธรรมชาติและเจ้าของบ้านอย่างสัตว์ป่าอย่างแท้จริง

nofeedingkhaoyai03

กรณีศึกษาของลิงนั้น อาจจะเป็นภาพที่ดูไม่รุนแรงมากนัก แต่หากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์จากการให้อาหารสัตว์ป่านี้ นำไปสู่การสูญเสียบุคคลที่รักหรือชีวิตคนอื่นมันจะกลายเป็นตราบาปติดใจไปตลอดว่าท่านเองก็มีส่วนทำให้มันเกิดขึ้น ตัวอย่างเหตุการณ์เกิดขึ้นในเกาะ Fraser พื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติในประเทศออสเตรเลียที่ซึ่งมีความสวยงามและมีโอกาสที่จะพบสุนัข Dingo ได้ไม่ยาก จนกลายเป็นภาพชินตากับการใกล้ชิดกับสัตว์ป่า จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2544 มีข่าวผ่าน CNN ว่า สุนัข dingo 2 ตัว เข้าทำร้ายเด็กชายวัย 9 ขวบจนตาย และกัดน้องชายวัย 7 ขวบบาดเจ็บ ณ จุดท่องเที่ยวที่โด่งดังบนเกาะ Fraser และสุดท้ายเจ้าหน้าที่ป่าไม้ต้องตัดสินใจยิงสุนัข Dingo ทั้งสองตัว เพื่อไม่ให้ไปทำร้ายคนอื่นซ้ำอีก ทั้งนี้ประชาชนในท้องถิ่นเชื่อว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะนักท่องเที่ยวให้อาหารสัตว์ป่าจนเกิดความเคยชิน (Habituation) จากที่เคยหลบหนีจากคนกลับกลายเป็นไม่กลัวและกล้าเข้าหาคนเพื่อหาอาหาร ยิ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เหตุการณ์สุนัข Dingo จู่โจมเข้าทำร้ายมนุษย์ ก็มีเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน

ประเด็นที่2 ของปัญหาสืบเนื่องจากการให้อาหารสัตว์ป่าที่มักถูกละเลย คือ อาหารที่คนกินนั้นไม่ได้มีสารอาหารที่เหมาะสมกับสัตว์ป่า ตัวอย่างเช่น อาหารที่นักท่องเที่ยวให้กับสัตว์ป่าบนเขาใหญ่พบได้ตั้งแต่ผลไม้ ขนมกรุบกรอบ ไปจนถึงเศษอาหารจากคน อาหารเหล่านี้ไม่ได้เหมาะสมต่อสัตว์ป่าแต่อย่างใด เพราะเป็นอาหารที่ อุดมไปด้วยไขมัน แป้งและน้ำตาลแต่ไม่ได้ให้สารอาหารอื่น ๆ ที่สำคัญต่อสัตว์ป่า และอาจจะส่งผลเสียต่อระบบการย่อยของสัตว์ป่าและสุขภาพในภาพรวมได้ โดยเฉพาะลูกสัตว์หรือสัตว์วัยรุ่น (Young animals and juveniles)
ในต่างประเทศมีงานวิจัยที่สนับสนุนผลเสียจากการให้อาหารสัตว์ป่า เช่น การศึกษาพบว่าปลากระเบนที่อาศัยบริเวณที่มีนักท่องเที่ยวชุกชุมที่เกาะ Cayman จะมีปัญหาด้านสุขภาพ การสืบพันธุ์ และโอกาสการถ่ายทอดยีนที่ควบคุมลักษณะต่าง ๆ ไปสู่รุ่นลูกหลาน (Fitness) มากกว่าพื้นที่ซึ่งไม่มีนักท่องเที่ยว ส่วนงานวิจัยในประเทศออสเตรเลียสนับสรุปว่าลูกโลมามีอัตราการรอดสูงขึ้นเมื่อลดการให้อาหารโลมาในกิจกรรมท่องเที่ยว

nofeedingkhaoyai04

นอกจากอาหารที่คนให้ไม่เหมาะสมต่อสัตว์ป่าแล้ว ยังพบว่าสัตว์ป่าที่ติดใจในรสชาติอาหารของคน ก็เริ่มเรียนรู้ที่จะตามกลิ่นอาหารที่คนทิ้งไว้ตามถังขยะและกินเศษขยะเข้าไปโดยไม่ตั้งใจ และบางตัวก็ตายเพราะเศษขยะพันลำไส้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้เกิดขึ้นจริงแล้วบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกเช่นกันโดยเฉพาะกับนกทะเลกว่า 90% ที่ถูกพบว่ากินพลาสติกขนาดเล็กเข้าไปเพื่อคิดว่าเป็นอาหาร โดยพื้นที่ที่มีปัญหามากที่สุดคือ ตอนล่างของมหาสมุทรอินเดีย มหาสมุทรแปซิฟิค และมหาสมุทรแอตแลนติก นั้นหมายถึงว่า สัตว์ทะเลชนิดอื่น ๆ เช่น เต่าทะเล วาฬ โลมา ก็กำลังเผชิญชะตากรรมเดียวกันกับนกทะเลเหล่านี้ และแม้แต่ในเขตทะเลทรายอย่างในประเทศดูไบก็พบอูฐและ Arabian oryx ตายเพราะกินพลาสติกที่นักเดินทางทิ้งไว้เช่นกัน

nofeedingkhaoyai05

ประเด็นที่ 3 คือ การให้อาหารสัตว์ป่ายังเป็นการเพิ่มโอกาสการติดต่อและความใกล้ชิดระหว่างคนกับสัตว์ป่า นั้นหมายถึงการเพิ่มโอกาสถ่ายทอดเชื้อโรคจากมนุษย์สู่สัตว์ป่าและจากสัตว์ป่าสู่คน (Disease transmission) แม้ความจริงข้อนี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ แต่หากการถ่ายทอดเชื้อโรคจากสัตว์ป่าสู่คน ได้ก้าวไปสู่การถ่ายทอดเชื้อโรคจากคนสู่คนแล้ว การระบาดของโรคสามารถคงอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งหรือตลอดไปเช่น ไวรัสเอดส์ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ Type A ไวรัสอีโบล่า และไวรัสซาร์

ปัญหาเรื่องการถ่ายทอดเชื้อโรคระหว่างสัตว์ป่าสู่คนและจากคนสู่สัตว์ป่า เป็นเรื่องที่ควรให้ความสนใจและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และนักท่องเที่ยวต้องรับรู้และตระหนักถึงข้อเท็จจริงนี้ด้วย เพราะมีงานวิจัยพบว่าเชื้อโรคในปลากระเบนที่อาศัยในพื้นที่ท่องเที่ยว มีความชุกชุมมากกว่าพื้นที่ซึ่งนักท่องเที่ยวไม่ได้ไปเยี่ยมชม นั้นหมายถึงการสัมผัสหรือใกล้ชิดสัตว์ป่า เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการติดโรคจากสัตว์ป่าได้ ความน่ากลัวในการถ่ายทอดเชื้อโรค ดูจะน่ากลัวมากขึ้นจากงานวิจัยล่าสุด ที่พบว่าสัตว์ตระกูลลิงในประเทศบังคลาเทศและกัมพูชาเป็นรังของเชื้อแอสโตรไวรัส (Astrovirus) ซึ่งสามารถพบได้ในนกหลายชนิดและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้ง วัว ควาย และคน โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถถ่ายทอดระหว่างสัตว์ชนิดต่าง ๆ ได้ แต่ยังไม่มีหลักฐานการถ่ายทอดสู่คน
แต่หากพิจารณารายงานการติดเชื้อ Marburg virus ซึ่งเป็นไวรัสสายพันธุ์หนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคอีโบล่าจากลิง African green monkey สู่คนที่สัมผัสกับลิงชนิดนี้ จนมีรายงานผู้เสียชีวิตในประเทศคองโก 10 คน ในปีค.ศ. 1999 แล้ว โอกาสที่เชื้อโรคจากสัตว์ป่าโดยเฉพาะลิงจะถ่ายทอดสู่คนในประเทศไทยก็เป็นไปได้เช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อโลกของเรากำลังเผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลให้โอกาสการเกิดโรคอุบัติใหม่ (Emerging disease) และโรคอุบัติซ้ำ (Reemerging disease) เพิ่มสูงขึ้น

จริงอยู่ว่าการให้อาหารสัตว์ป่าไม่ได้มีแต่โทษ เพราะการให้อาหารสัตว์ป่าในฤดูหนาวในประเทศเขตอบอุ่นที่ผืนดินเต็มไปด้วยหิมะและอาหารตามธรรมชาติหายากมาก เป็นการช่วยให้สัตว์ป่าสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และการจัดการที่เหมาะสม เพราะต้องคำนึงถึงปริมาณและสารอาหารที่เหมาะสมต่อสัตว์ป่า รวมทั้งวิธีการให้อาหารที่จะไม่ทำให้สัตว์ป่าเกิดความคุ้นเคยกับคน จนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสัตว์ป่า หรือในหลาย ๆ ประเทศ เช่น ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น แคนาดา และแอฟริกา การท่องเที่ยวเพื่อชมสัตว์ป่าได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล อย่างไรก็ตามการให้อาหารสัตว์ป่าเพื่อการท่องเที่ยว ก็ยังเป็นเรื่องที่มีข้อโต้แย้งกันจำนวนมากระหว่างนักวิทยาศาสตร์ นักอนุรักษ์ นักธุรกิจและนักท่องเที่ยว ว่าเป็นเรื่องที่สมควรสนับสนุนหรือไม่ เมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความปลอดภัย และชีวิตของทั้งสัตว์ป่าและคน ฉะนั้นเพื่อการจัดการที่ดีแล้วก็ควรจะต้องระวังระไว (Precautionary principle) ไว้ก่อนที่ปัญหาจะเกิดและบานปลาย

nofeedingkhaoyai06

เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงเข้าใจแล้วว่า ทำไมกลุ่มใบไม้ ต้องมาร่วมรณรงค์ปฏิบัติการ 4 ม. และ ม. ที่สำคัญที่สุดคือการไม่ให้อาหารสัตว์ป่า เมื่อรู้เหตุผลที่มาที่ไป เราหวังว่าท่าน จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยกันขยายความรู้นี้ออกไปให้กับคนใกล้ชิด “ลด ละ เลิก การให้อาหารสัตว์ป่า”

ครั้งหน้าเรามาดูสิว่า การทิ้งขยะ การขับรถเร็ว และการใช้เสียงดังในพื้นที่อนุรักษ์ จะก่อปัญหาอะไรกับมนุษย์ สัตว์ป่า และการอนุรักษ์สัตว์ป่าและป่าไม้บ้าง

บทความ : อ.ดร.จิราภรณ์ เทียมพันธ์พงศ์

References
พรชัย กัณฑ์อุไร.2547.ผลกระทบของการให้อาหารสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กรณีศึกษาลิงกัง.
วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ.
Bengis, R.G., F.A. Leighton, J.R. Fischer, M. Artois, T. Morner, and C.M. Tate. 2004. The role of
wildlife in emerging and re-emerging zoonoses. Rev. sci. tech. Off. int. Epiz., 2004, 23(2),
497-511.
Burns, G.L. and P. Howard. 2003. When wildlife tourism goes wrong: a case study of stakeholder
and management issues regarding dingoes on Fraser Island, Australia. Tourism Management 24(6): 699-712.
Dubois, S. and D. Fraser. 2013. A Framework to evaluation wildlife feeding in research, wildlife
management, tourism and recreation. Animals 3(4): 978-994.
Engel, G. A., L. Jones-Engel, M. A. Schillaci, K. G. Suaryana,A.Putra and A.Fuentes. 2002. Human
exposure toHerpesvirusB-seropositive macaques, Bali, Indonesia.Emerg.Infect. Dis.8:
789–795.
Fuentes, A. and S. Gamerl. 2005. Disproportionate participation by age/sex classes in aggressive
interactions between long-tailed macaques (Macacafascicularis) and human tourists at
Padangtegal Monkey Forest, Bali, Indonesia. Am.J. Primatol. 66:197–204.
Fuentes, A. 2006. Human culture and monkey behavior: assessing the contexts of potential
pathogen transmissionbetween macaques and humans. 68:880–896.
Fuentes, A., E. Shaw, and J. Cortes. 2007. Qualitative assessmentof macaque tourist sites in
Padangtegal, Bali, Indonesia,and the Upper Rock Nature Reserve, Gibraltar. International
Journal of Primatology 28: 1143 – 1158.
Foroughirad V., J. Mann. 2013. Long-term impacts of fish provisioning on the behavior and
survival of wild bottlenose dolphins. Biological Conservation 160:242–249.
Hsu, M. J., C. C. Kao and G. Agoramoorthy. 2009. Interactionsbetween visitors and Formosan
macaques (Macacacyclopis)at Shou-Shan Nature Park, Taiwan. American Journal of Primatology 71: 214–222
Jones-Engel, L. G., A. Engel, J.Heidrich, M.Chalise, N. Poudel, R. Viscidi, P.A. Barry, J.S. Allan,
R. Grant, and R. Kyes. 2006. Temple monkeys and health implications of commensalisms, Kathmandu, Nepal. Emerging Infectious Disease 12:900–906.
Karlsson, E.A., C.T. Small, P. Freiden, M.M. Feeroz, F.A. Matsen IV, S. Sorn, M.K. Hasan, D. Wang,
L. Jones-Engel, and S. Schultz-Cherry. 2015. Non-human primatesharbor diverse
mammalian and avian Astroviruses including those associated with human infections.
PLOS Pathogen. DOI: 10.1371/journal.ppat.1005225.
Koganezawa, M. and H. Imaki. 1999. The effects of food sources on Japanese Monkey home
range size and location, and population dynamics. Primates 40(1): 177-185.
Marion J., R. Dvorak R.R.E. Manning. 2008. Wildlife feeding in parks: methods for monitoring the
effectiveness of educational interventions and wildlife food attraction behaviors. Hum.
Dimens. Wildl: 13:429–442.
Ruesto, L.A., L.K. Sheeran, M.D., Matheson, J-H. Li, and S. Wagner. 2010. Tourist behavior and
decibel levels correlate with threat frequency in Tibetan Macaques (Macacathibetana)
at Mt. Huangshan, China. Primate Conservation 25: 99-104.
SemeniukC.A.D., S. Bourgeon, S.L. Smith, K.D., Rothley. 2009. Hematological differences
between stingrays at tourist and non-visited sites suggest physiological costs of wildlife
tourism. Biological Conservation 42:1818–1829.

Zhao Q. and Z. Deng 1988. Ranging behavior of Macacathibetanaat Mt. Emei, China.
International Journal of Primatology 9: 37-47.

Comments are closed.